ช่วงใกล้ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวสะเทือนใจความรู้สึกของผู้คนอย่างมาก เมื่อสำนักข่าวบีบีซี รายงานการละลายอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ในเทือกเขาหิมาลัย เนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้พบร่างของนักปีนเขาที่ต้องไปจบชีวิตบนยอดเอเวอเรสต์ ยอดเขาสูงที่สุดในโลก มากถึงเกือบ 300 ศพ

ที่น่าวิตกคือ คณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสำรวจเทือกเขาเอเวอเรสต์ ยังกังวลว่า น้ำแข็งและหิมะที่ละลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้พบศพนักปีนเขามากกว่านี้ เพราะศพที่พบแล้ว 280 ศพนั้น อาจเป็นเพียงแค่ 1 ใน 3 ของนักปีนเขาที่เสียชีวิตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น

แน่นอนว่า ยอดเขาเอเวอเรสต์ สำหรับนักปีนเขาทั่วโลกแล้ว ถูกยกให้เป็น ‘เพชรที่ประดับบนยอดมงกฎ’ เป็นหนึ่งในยอดเขาบนโลกใบนี้ ที่นักปีนเขาทุกคนต่างใฝ่ฝันอยากจะปีนป่ายขึ้นไปให้ถึงยอดสูงสุดสักครั้งในชีวิต...

แต่อะไรเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้นักปีนเขาที่กล้าหาญยอมเสี่ยงตาย และสุดท้าย กลับต้องมาเสียชีวิตบนยอดเขาอันหนาวเหน็บแห่งนี้ ทั้งที่ทุกคนต่างขึ้นมาด้วยความมุ่งมั่น ความหวังกำลังใจ และประสบการณ์มากมายในการปีนเขาที่ผ่านมา??

...


*สถิติการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา

จากสถิติที่มีการบันทึกการเสียชีวิตของนักปีนเขาที่หวังจะพิชิตเอเวอเรสต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ด้วยระดับความสูง 8,850 เมตรเหนือน้ำทะเลนั้น ได้พบตัวเลขที่น่าตกใจว่ามีจำนวนนักปีนเขาที่เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1900-2018 หรือตรงกับช่วง พ.ศ.2443-2561 โดยทั้งนักปีนเขา และไกด์นำทางชนเผ่าเชอร์ปา ที่เชี่ยวชาญ รู้เส้นทางการปีนไปสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นอย่างดี ต่างมีจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ตามข้อมูลตั้งแต่ปี 2553 พบว่า มีผู้เสียชีวิตบนเอเวอเรสต์ จำนวน 72 คน และมีนักปีนเขาที่สามารถปีนขึ้นไปสูงกว่าเอเวอเรสต์ เบส แคมป์ 7,954 คน

*สาเหตุที่ทำให้นักปีนเขาเสียชีวิตบนยอดเอเวอเรสต์

บีบีซี เผยว่า ตามรายงานของฐานข้อมูล ‘The Himalayan Database’ พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักปีนเขาต้องมาเสียชีวิตบอดยอดเอเวอเรสต์นั้น สาเหตุอันดับหนึ่ง คือ เนื่องจากประสบเหตุหิมะถล่ม คิดเป็นอัตราส่วนสูงถึง 41.6%

รองลงมา อันดับ 2 คือ การป่วยจากภาวะการขึ้นไปบนภูเขาที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมากๆ (Acute Mountain Sickness) ที่ออกซิเจนเบาบาง จนทำให้เกิดอาการทั้งเวียนหัว อาเจียน ปวดศีรษะ รวมไปถึงหัวใจวายเฉียบพลัน คิดเป็น 22.2% ส่วนสาเหตุอันดับ 3 ที่ทำให้เสียชีวิต คือ นักปีนเขาหมดแรงเป็นเหตุให้เสียชีวิต 16.6% อันดับ 4 พลัดตกขณะปีนเขาจนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต 12.5% และจากปัจจัยอื่นๆ อีก 6.9% ที่ทำให้นักปีนเขาต้องมาจบชีวิตบนยอดเอเวอเรสต์

เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยบินมารับศพไกด์ชนเผ่าเชอร์ปา เมื่อ18 เมษายน 2557 เสียชีวิตจากหิมะถล่ม 16 ราย
เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยบินมารับศพไกด์ชนเผ่าเชอร์ปา เมื่อ18 เมษายน 2557 เสียชีวิตจากหิมะถล่ม 16 ราย

...

*กังวลใจมากขึ้น-นักปีนเขาเสี่ยงเจอหิมะถล่ม

ปี 2557 เกิดเหตุหิมะบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ทางฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ไกด์นำทางชนเผ่าเชอร์ปา เสียชีวิต 16 ศพ หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีถัดมา เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่เนปาล รุนแรงสุดในรอบเกือบร้อยปี ส่งผลให้เกิดหิมะถล่มที่บริเวณ เบส แคมป์ ด้านทิศใต้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสลดอย่างน้อยถึง 18 ราย

เจ้าหน้าที่เนปาลและชนพื้นเมืองเผ่าเชอร์ปา มีความกังวลใจถึงความเสี่ยงที่นักปีนเขาจะประสบเหตุไม่คาดฝันเพิ่มมากขึ้น จึงขอแนะนำให้นักปีนเขาไม่ควรเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ในการขึ้นไปสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ อีกทั้งเจ้าหน้าที่เนปาลยังคงเตือนนักบิน ไม่ให้ขับเครื่องบินเข้ามาในเขตที่กำหนดไว้เหนือยอดเขาเอเวอเรสต์ เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องยนต์ไอพ่นของเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ จะทำให้หิมะถล่มได้

*เสียงเตือนจากนักปีนเขาที่เคยพิชิตเอเวอเรสต์สำเร็จแล้ว 4 ครั้ง

ทิม โมซีเดล นักปีนเขาชาวอังกฤษ ที่เคยพิชิตยอดเอเวอเรสต์สำเร็จมาแล้ว 4 ครั้ง เขียนเตือนในบล็อกของเขา ‘Everest Expedition’ ฝากถึงนักปีนเขาที่อยากจะมาพิชิตยอดเขาสูงที่สุดในโลกนี้ว่า ‘ใช่แค่เพียงความใฝ่ฝัน แรงขับดัน ความมุ่งมั่น และข้อกำหนดเบื้องต้นที่จำเป็นเท่านั้น ที่หมายความว่าคุณจะประสบความสำเร็จในการไปถึงเป้าหมาย ในการพิชิตยอดเอเวอร์เรสต์

...

โดยสถิติเฉลี่ย แต่ละปี จะมีนักปีนเขาที่สามารถปีนขึ้นไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ประมาณ 600 คนเท่านั้น ในขณะที่อีกราว 600 คน ต้องหันหลังกลับ ล้มเลิกความพยายามที่จะไปถึงยอดเขา และมีอีกหลายชีวิตที่ต้องมาจบชีวิตบนยอดเขาเอเวอเรสต์ แห่งนี้...