(ภาพ : Credit : Marilyn Chung/Berkeley Lab)
ปัจจุบันมีความต้องการเชื้อเพลิงรายวันมากกว่า 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเฉพาะภาคการบินของทั่วโลกนั้นพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียมเกือบทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่งภาคพื้นดินหรือใช้ในอาคารที่อยู่อาศัย เมื่อเร็วๆนี้มีการวิเคราะห์ใหม่โดยนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการทดลองแห่งชาติลอเรนซ์ เบิร์กลี่ ของกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา พบว่าเชื้อเพลิงชีวภาพอาจเติบโตมาแข่งขันกับเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) แบบเดิมๆ ที่เป็นหนึ่งในตัวการสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม
จริงๆแล้วเทคโนโลยีในการสร้างเอทานอล (ethanol) จากพืช เช่น ก้านข้าวโพด ใบและซังข้าวโพดนั้นมีมานานแล้ว แต่นักวิจัยก็พยายามศึกษาพัฒนา จนกระทั่งพบหลักฐานที่มีแนวโน้มเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการใช้แบคทีเรียดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อย่อยน้ำตาลชนิดที่สามารถแยกให้เป็นโมเลกุลที่มีพลังงานสูงหนาแน่น และเปลี่ยนรูปแบบทางเคมีให้กลายเป็นเชื้อเพลิง
ทีมวิจัยพบว่าเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับอากาศยาน (bio-jet fuels) ที่ทำมาจากพืชนั้นจะมีความยั่งยืนและเป็นทางเลือกในการแข่งขันกับเชื้อเพลิงปิโตรเลียมแบบเดิมๆ โดยเชื่อว่าจะลดช่องว่างของราคาลงได้ในอนาคต.