เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หากได้ติดตามข่าวสารด้านความมั่นคง ก็จะพบเห็นข่าวชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ กรณีเครื่องบินสอดแนมรัสเซียรุ่นตูโปเลฟ-154 เอ็ม ทำการเก็บข้อมูลเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ
โดยภารกิจครั้งนี้เป็นการบินหาข่าวเหนือฐานทัพด้านความมั่นคงในภูมิภาคตะวันตกของกองทัพพญาอินทรีอย่างครอบคลุม ซึ่งจากรายงานที่ปรากฏยังระบุด้วยว่า เครื่องบินหมีขาวน่าจะได้ข้อมูลไปไม่น้อย เพราะมีการบินผ่านฐานทัพลับเอเรีย 51 ที่เราเคยได้ยินชื่อกันในภาพยนตร์ต่างๆ
ไปจนถึงศูนย์ทดสอบและฝึกซ้อมเนวาดา (เอ็นทีทีอาร์) หรือรู้จักกันในนามฐานทัพอากาศเนลลิส ซึ่งเป็นจุดที่กองทัพสหรัฐฯใช้ทดลองอาวุธรุ่นใหม่ และเป็นหนึ่งในพื้นที่น่านฟ้าที่มีมาตรการคุมเข้มมากที่สุด ระดับเดียวกับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ศูนย์กลางอำนาจของรัฐบาลสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าสหรัฐฯเสียหน้าโดนล้วงข้อมูลไปได้ยังไง แต่เป็นเพียงการปฏิบัติภารกิจตามสนธิสัญญา “เปิดฟ้า” โอเพ่น สกายส์ ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียเท่านั้น
ทั้งนี้ สนธิสัญญาโอเพ่น สกายส์ ริเริ่มในปี 2498 สมัยประธานาธิบดีดไวท์ ดี ไอเซนฮาวร์ เปิดน่านฟ้าทั้งประเทศเพื่อให้อีกฝ่ายทำการตรวจสอบขุมกำลังกองทัพ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ถูกรัสเซีย (สหภาพโซเวียตในตอนนั้น) ปฏิเสธ ก่อนกลับมาเริ่มเจรจาอย่างจริงจังในปี 2533 สมัยประธานาธิบดีจอร์จ บุช จนมาบังคับใช้จริงในปี 2545 สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช
และไม่เฉพาะแต่สหรัฐฯ-รัสเซียอย่างเดียว มีประเทศเจ้าอื่นร่วมลงนามสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วย ทั้งบอสเนีย โครเอเชีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย สโลวีเนีย และสวีเดน โดยรัสเซียเป็นผู้ประเดิมบินเก็บข้อมูลก่อนในเดือน ส.ค. 2545 ตามด้วยสหรัฐฯในเดือน ธ.ค.ปีเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันประเทศสมาชิกสนธิสัญญาต่างบินหาข้อมูลกันแล้วกว่า 800 เที่ยวบิน
...
เงื่อนไขคือประเทศที่ถูกร้องขอตรวจสอบ จะต้องอนุญาตให้เครื่องบินปลอดอาวุธ บินผ่านน่านฟ้าทั้งหมด เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านการทหารและความเคลื่อนไหวของกองทัพ ส่วนเครื่องบินที่ใช้ตรวจสอบจะต้องมีเซ็นเซอร์ที่มีขีดความสามารถระบุตำแหน่งอาวุธสำคัญอย่างปืนใหญ่ ยานเกราะ และเครื่องบินรบของฝ่ายตรงข้าม
แต่มีข้อกำหนดคือข้อมูลที่ได้ไป ต้องแสดงให้ประเทศเจ้าบ้านรับทราบด้วย รวมถึงต้องทำรายงานสรุปแก่ประเทศสมาชิกสนธิสัญญาทั้งหมด แต่แน่นอนว่าก็มีเสียงทักท้วงเช่นกัน จะรู้ได้อย่างไรหากอีกฝ่ายไม่สำแดงข้อมูลทั้งหมดที่สอดแนมไป...เช่นเดียวกับฝ่ายกลาโหมสหรัฐฯ ที่กังวลว่าสนธิสัญญาสร้างความได้เปรียบแก่รัสเซีย เนื่องจากเทคโนโลยีสอดแนมด้วยช่องทางอื่น เช่น ดาวเทียมประสิทธิภาพไม่สูงเท่าสหรัฐฯ.
ตุ๊ ปากเกร็ด