สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่อังกฤษ เกาะติดการเลือกตั้งในประเทศไทย หลังจาก คสช.ยึดอำนาจบริหารประเทศมานานเกือบ 5 ปี ชี้ เป็นการใช้สิทธิเลือกตั้งแบบ ‘ประชาธิปไตยลูกผสม’ (hybrid democracy)

เมื่อ 21 มี.ค.62 สำนักข่าวบีบีซี เกาะติดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในประเทศไทย ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ได้ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 โดยให้เหตุผลเพื่อต้องการยุติความรุนแรงขัดแย้งทางการเมืองที่สั่นคลอนเสถียรภาพของประเทศไทยอย่างรุนแรงสุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

บีบีซี สื่อใหญ่ในอังกฤษ ได้มองการเลือกตั้งของไทยเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ คสช.ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเกือบ 5 ปีก่อน ว่า เป็นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อ ‘ประชาธิปไตยแบบลูกผสม’ (hybrid democracy) เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ พ.ค. 2557 ยังคงหวังที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ผ่านการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่เมื่อปีที่แล้ว ในชื่อ พรรคพลังประชารัฐ

...

ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากที่ได้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลทหาร นอกจากนั้น ยังได้มีการร่วมมือกับเหล่านักการเมืองท้องถิ่นคนดังจากพรรคการเมืองหลายพรรค อีกทั้ง พรรคพลังประชารัฐยังเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพียงคนเดียว ถึงแม้พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้รับอนุญาตให้เสนอชื่อแคนดิเดตเป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึง 3 คนก็ตาม

นอกจากนั้น เรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากก็คือ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ซึ่งได้รับแต่งตั้งจาก คสช.มาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตคนต่อไปของไทยด้วย ซึ่งระบบการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแบบใหม่ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ที่สุดอย่างพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพรรคพลังประชารัฐ เสียเปรียบ

อย่างไรก็ตาม บีบีซี ชี้ว่า ถึงแม้การเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายทหารเป็นฝ่ายได้เปรียบ ทว่าการเลือกตั้งของไทยในครั้งนี้ พรรคการเมืองต่างๆ มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ขณะที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากสมาชิกสภาอย่างต่ำ 376 เสียง จากทั้งหมด 750 เสียง ซึ่ง 500 เสียง คือ ส.ส.ที่ประชาชนเลือก ส่วนอีก 250 คือ ส.ว.ที่คสช.เลือกเข้ามาเอง

นอกจากนั้น บีบีซี ยังรายงานด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคใหญ่อันดับ 2 รองจากพรรคเพื่อไทย และเป็นคู่แข่งสำคัญ ได้ยืนยันจะไม่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ ซึ่งกำลังสร้างความตื่นเต้นฮือฮา ยังได้ประกาศนโยบายของพรรคที่จะปฏิรูปการเมือง ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่ ได้รับความนิยมจากเยาวชนไทย ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีคนหนุ่มคนสาวมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก จำนวนถึง 7 ล้านคน จากปัจจัยเหล่านี้จึงยังคงสร้างความคลุมเครือต่อความใฝ่ฝันของรัฐบาลทหารที่จะรักษาอำนาจต่อไป.

...