จีนกับญี่ปุ่นมีปัญหากันกรณีหมู่เกาะเตี้ยวหวีไถ ที่ญี่ปุ่นเรียกว่าหมู่เกาะเซ็นกะกุ จีนกับอินเดียก็มีกรณีพิพาทกันในพื้นที่ดอกลัม จีนพยายามขยายถนนตามแนวพรมแดนที่ราบสูงดอกลัมที่จีนเรียกว่าต้งหล่าง ที่จริงจีนมิได้มีเรื่องกับอินเดียโดยตรงดอกครับ ที่ราบสูงตรงนี้เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับภูฏาน และอินเดียเข้าไปหนุนว่าแผ่นดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของภูฏาน

ทั้งญี่ปุ่นและอินเดียเห็นตรงกันว่า ในอนาคตพวกตนอาจจะเจอภัยคุกคามจากจีน นายอาเบะเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.2555 ญี่ปุ่นได้ปรับปรุงนโยบายความมั่นคงของประเทศใหม่ และถือว่าอินเดียเป็นหุ้นส่วนทางด้านความมั่นคงที่มีความสำคัญอย่างมากของตน ญี่ปุ่นเพิ่มงบประมาณทหาร เพิ่มขีดความสามารถในการใช้กำลังทางทหาร มีการยกเลิกข้อกำหนดห้ามส่งออกอาวุธ การตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติในยุคของนายอาเบะเพื่อรับมือภัยคุกคามจากจีน

ญี่ปุ่นกวาดสายตาไปทั่วเอเชีย เจอแต่ประเทศกระจิริดกระจ้อยร่อยด้อยศักยภาพ ญี่ปุ่นไปจับมือด้วยก็ไม่มีทางซัดกับจีนได้ แถมบางประเทศยังเป็นภาระให้ญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ มองไปในทวีปนี้ ญี่ปุ่นมองเห็นอินเดียเพียงประเทศเดียวที่เมื่อจับมือกับตัวเองแล้ว หยุดยั้งจีนได้

นายอาเบะจึงชวนนายซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดียในสมัยนั้นมาเยือนญี่ปุ่น หลังจากคุยกันจุ๊กจิ๊กๆ นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศก็บอกว่า ต่อไปนี้กองทัพเรืออินเดียกับกองกำลังป้องกันตนเอง หรือ MSDF ของญี่ปุ่นจะซ้อมรบร่วมกัน นายกฯอินเดียพูดว่า เห็นเครื่องบินสะเทินน้ำ สะเทินบก US–2 ที่ท่านพัฒนาแล้ว อยากได้จริงๆ ฉันขอซื้อสัก 15 ลำได้ไหม ญี่ปุ่นบอกว่า ด้วยความยินดีครับท่าน

ตามรัฐธรรมนูญ ญี่ปุ่นส่งออกอาวุธไม่ได้ แต่เพราะความอยากจะคบกับอินเดีย (เพื่อคานอิทธิพลของจีน) ทำให้สมาชิกรัฐสภาของญี่ปุ่นมีดวงตาเห็นธรรม ยอมแก้ไขพระราชบัญญัติเพื่อให้ขายอาวุธได้ ไปเยือนญี่ปุ่นแล้ว นายกฯอินเดียก็ขอให้มีการจัดประชุมทางทะเลระหว่างญี่ปุ่นกับอินเดียครั้งที่ 1 ทั้งในประเด็นเศรษฐกิจและความมั่นคง

...

จากนั้นนายกฯอาเบะก็ไปอินเดียเพื่อลงนามในแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อยกระดับการเป็นหุ้นส่วนโลกและยุทธศาสตร์สำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคง จากนั้นก็มีการดึงเอาสหรัฐฯ (ซึ่งมองจีนเป็นภัยคุกคามเช่นกัน) มาซ้อมรบร่วมกันภายใต้รหัสมาลาบาร์ ที่สุดของที่สุดก็คือให้มีการตั้งเวทีที่ปรึกษาหารือระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่นกับเลขาธิการและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของอินเดีย

พ.ศ.2558 นายกฯ อาเบะไปอินเดียอีกครั้ง เพื่อพบกับนายกฯคนใหม่ของอินเดีย จากนั้นก็ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่าด้วยวิสัยทัศน์ 2025 ในฐานะ ‘หุ้นส่วนพิเศษระดับโลกและยุทธศาสตร์’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อินเดียกับญี่ปุ่นก็เริ่มซื้อขายยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยี มีข้อตกลงเรื่องปกป้องข้อมูลความลับทางทหาร

อินเดียบอกญี่ปุ่นว่าไฟฟ้าของตัวเองไม่พอ ญี่ปุ่นบอกว่า อย่างนี้ต้องใช้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายสนับสนุนเทคโนโลยี อินเดียบอกว่า นอกจากรถไฟความเร็วสูงแล้ว ฉันเองก็ชอบรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นเสียเหลือเกิน ทำให้ฉันหน่อยได้ไหม ญี่ปุ่นก็รับเข้ามาสร้างรถไฟความเร็วสูงสายมุมไบ-อัห์มดาบัด ความยาวทั้งหมด 505 กิโลเมตรให้อินเดีย

อินเดียและญี่ปุ่นคบกันแน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ พ.ศ.2559 ก็มีการประชุมสุดยอดผู้นำ และนำไปสู่ ‘ยุคใหม่ของความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อินเดีย’ โดยมียุทธศาสตร์ร่วมกันหลายยุทธศาสตร์ ปีต่อมา นายกฯอาเบะและนายกฯอินเดียก็เป็นสักขีพยานการลงนามระหว่างบริษัทอินเดียกับญี่ปุ่น จากนั้นก็ขยายความร่วมมือมาทางด้านวัฒนธรรม มีการเปิดหลักสูตรญี่ปุ่นศึกษาในอินเดีย ญี่ปุ่นส่งครูสอนภาษาญี่ปุ่นให้อินเดียมากถึง 1,000 คน และสอนภาษาใน 100 แห่งทั่วอินเดีย

จีนเหล่ตาดูความสัมพันธ์ของสองประเทศอย่างไม่ค่อยพอใจ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย