สเปซเอ็กซ์ประสบความสำเร็จในการทดสอบแคปซูลขนนักบินอวกาศ ‘ดราก้อน’ โดยยานเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า แคปซูลขนส่งนักบิน ‘ดราก้อน’ ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ เชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) แล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มี.ค. ราว 27 ชม. กลายเป็นยานส่งนักบินอวกาศที่ผลิตในสหรัฐฯ ลำแรกในรอบ 8 ปีที่เดินทางไปถึงไอเอสเอส
สเปซเอ็กซ์ยิงจรวดส่งแคปซูลดราก้อนพร้อมหุ่นคนจำลองกับเสบียงน้ำหนักรวม 90 กก. สู่อวกาศจากแหลมคานาเวรัล เมื่อช่วงเช้ามืดวันเสาร์ โดยเป็นหนึ่งในการทดสอบมากมาย เพื่อให้พวกเขาได้รับอนุมัติจากนาซาเป็นผู้ขนส่งนักบินอวกาศ ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน การทดสอบครั้งที่ 2 อาจจะเป็นการขนส่งนักบินอวกาศ 2 นายของนาซาคือ นายดั๊ก เฮอร์ลีย์ และ บ๊อบ เบห์นเคน ขึ้นสู่ไอเอสเอสในช่วงเดือนกรกฎาคม
...
ยานดราก้อนเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติในเวลาประมาณ 10:51 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช และเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์ในอีก 10 นาทีต่อมา โดยเป็นการเชื่อมต่อแบบอัตโนมัติจากด้านหน้า ใช้คอมพิวเตอร์และเซ็นเซอร์ในการนำทาง ไม่ต้องใช้แขนกลของสถานีอวกาศช่วยจับเข้าสู่ตำแหน่งเชื่อมต่อแบบในอดีต ขณะที่นักบินอวกาศบนไอเอสเอสจับตาดูปฏิบัติการครั้งนี้อย่างใกล้ชิด
หลังจากยานดราก้อนเชื่อมต่อกับไอเอสเอสสำเร็จ เสียงเชียร์กระหึ่มพร้อมเสียงปรบมือก็ดังขึ้นที่สำนักงานของบริษัท สเปซเอ็กซ์ ในเมืองฮอว์ธอร์น รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยนักบินอวกาศบนไอเอสเอสส่งข้อความแสดงความยินดี ในขณะที่พวกเขาเข้าไปในยานดราก้อนเพื่อนำเสบียงและหุ่นคนจำลองที่มีชื่อเล่นว่า ริปลีย์ เข้าไปในสถานีด้วย
แคปซูลดราก้อนจะเชื่อมต่อกับไอเอสเอสไปจนถึงวันศุกร์ที่ 8 มี.ค. ก่อนจะเดินทางกลับสู่โลกโดยจะตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
ทั้งนี้ นับตั้งแต่โครงการกระสวยอวกาศของนาซายุติลงในปี 2554 นักบินอวกาศก็ต้องอาศัยจรวด ‘โซยุซ’ ของรัสเซียในการเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติมาตลอด โดยเสียค่าใช้จ่ายที่นั่งละ 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่นาซาจ่ายเงินให้บริษัท สเปซเอ็กซ์ กับบริษัท โบอิ้ง ในการสร้างและบริหารจัดการแคปซูลขนส่งนักบินอวกาศทั้งไปและกลับจากไอเอสเอส เป็นเงินรวมกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อนึ่ง บริษัท โบอิ้ง จะทดสอบส่งแคปซูลขนนักบินอวกาศของพวกเขาที่มีชื่อว่า ‘สตาร์ไลเนอร์’ โดยที่ไม่มีลูกเรืออย่างเร็วที่สุดในช่วงเดือนเมษายนนี้ และทดสอบโดยมีลูกเรือในช่วงเดือนสิงหาคม