การประชุมสุดยอด (ซัมมิต) ครั้งที่ 2 ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กับนายคิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่กรุงฮานอย เวียดนาม เมื่อ 27-28 ก.พ. ถูกคาดหวังสูงว่าจะมีผลคืบหน้าเป็นแก่นสาร มิฉะนั้นจะเป็นแค่การ “สร้างภาพ” อีกครั้ง
ซัมมิตครั้งแรกที่สิงคโปร์ เมื่อ 12 ก.พ.ปีที่แล้ว แม้ทั้งคู่ตกลงจะร่วมมือทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง แต่คลุมเครือไม่ระบุว่าจะทำอย่างไร จากนั้นการปลดอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่คืบหน้า เพราะต่างคุมเชิงกันอยู่ โดยทรัมป์ต้องการให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อนถึงจะผ่อน คลายหรือยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ส่วนคิม จอง-อึน ต้องการให้ยกเลิก คว่ำบาตรก่อน จึงจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์
เมื่อจุดยืนสวนทางกัน ซัมมิตครั้งที่ 2 จึงล้มเหลวอย่างน่าเสียดาย เพราะคิม จอง-อึน เสนอให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดเพื่อแลกกับการปิดแหล่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ยองเบียน แต่ทรัมป์ไม่ยอมรับ ส่วนซัมมิตครั้งที่ 3 ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีขึ้นได้หรือไม่เมื่อใด แม้คิม จอง-อึน รับปากจะไม่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธอีก
อาวุธนิวเคลียร์เป็น “ไม้ตาย” ที่ผู้นำเกาหลีเหนือกอดไว้แน่นเป็นเกราะกำบัง แต่ขณะเดียวกันเขาก็ต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เพื่อความอยู่รอดและอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองของชาติด้วย ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้มาตรการคว่ำบาตรต้องถูกยกเลิก การเลือกเวียดนามเป็นเวทีซัมมิตรอบ 2 จึงมีนัยสำคัญยิ่ง เพราะนอกจากเวียดนามมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับทั้ง 2 ชาตินี้แล้ว คิม จอง-อึน ยังอาจเล็งใช้เวียดนามเป็น “ต้นแบบ” การปฏิรูปเศรษฐกิจด้วย
ทรัมป์ก็รู้เรื่องนี้ดี จึงพูดย้ำๆ ล่อใจว่า เกาหลีเหนือมีศักยภาพเจริญ เติบโตสูง สามารถกลายเป็น “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก” ได้อย่างรวดเร็วคล้ายเวียดนามถ้ายอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ ทรัมป์ยังเปิดทางออกไว้ว่าไม่รีบกดดันให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ ขอแค่อย่าทดสอบอาวุธอีก
...
หลังสหรัฐฯแพ้คอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือและถอนตัวจากสงครามเวียดนามในปี 2518 เวียดนามซึ่งปัจจุบันมีประชากรกว่า 95 ล้านคนก็ก้าวมาไกลมาก ตั้งแต่ใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ “โด่ยเหมย” ในปี 2529 โดยส่วนใหญ่ยึดจีนเป็นต้นแบบ คือเปิดตลาดการค้าเสรี แต่พรรคคอมมิวนิสต์ยังกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ
เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) และกลุ่มการค้า เสรีต่างๆในภูมิภาค รวมทั้งข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ทำให้เสียภาษีส่งออกต่ำ ชาติต่างๆโดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ก็แห่เข้าไปลงทุนเพราะค่าแรงถูกและมีสิ่งจูงใจต่างๆ บริษัทต่างชาติที่เข้าไปยึดหัวหาดรวมทั้ง “ซัมซุง” ยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามโตก้าวกระโดดแซงเพื่อนบ้าน
ปี 2560 การส่งออกของเวียดนามพุ่งขึ้นจากปีก่อนกว่า 20% มีมูลค่ากว่า 241,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุด ปี 2560 มีมูลค่าเกือบ 42,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกหลักรวมทั้งโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า รองเท้า เสื้อผ้า และปี 2561 เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตกว่า 7% ส่วนจีดีพีปี 2560 ก็สูงถึง 238,000 ล้านดอลลาร์ ติดอันดับ “ท็อป 50” ของโลก
แม้เวียดนามยังอยู่ในสถานะชาติรายได้ปานกลาง แต่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น อัตราความยากจนก็ลดลง อายุขัยเฉลี่ยของประชากรก็เพิ่มขึ้นจนถึง 76 ปี และเวียดนามพยายามเพิ่มความสามารถทางการผลิต ซึ่งปัจจุบันมีขนาดราว 1 ใน 3 ของจีน แต่การพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักเป็นจุดอ่อน ทำให้มีความเสี่ยงสูงเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เวียดนามจึงพยายามกระตุ้นตลาดภายในและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ขณะที่เร่งแก้ปัญหาคอร์รัปชัน มลภาวะเป็นพิษ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ขณะเดียวกันก็ควบคุมสื่อ ฝ่ายผู้เห็นต่าง และเสรีภาพด้านอื่นๆอย่างเข้มงวดตามแบบจีน
พัฒนาการของเวียดนามและจีนจึงเป็นบทเรียนเล่มใหญ่สำหรับคิม จอง-อึน ในการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม เขารู้ดีว่าถ้ามาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิกเมื่อไหร่ การลงทุนจากต่างชาติจะหลั่งไหลเข้าประเทศมหาศาล
“จีน” ลูกพี่ใหญ่ของเกาหลีเหนือ ก็หวังให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์และเปิดประเทศ เพราะจะได้ประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ส่วนเกาหลีใต้ก็ต้องการร่วมพัฒนาโครงการต่างๆกับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว และมองยาวไปถึงการรวมชาติ ขณะที่ญี่ปุ่นก็ต้องการยุติภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือและเคลียร์เรื่องคนญี่ปุ่นที่ถูกเกาหลีเหนือลักพาตัวไป
นานาชาติล้วนอยากให้มีสันติภาพถาวรบนคาบสมุทรเกาหลีเพราะทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ส่วนยาหอมของทรัมป์ที่ว่าเกาหลีเหนือสามารถเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจคล้ายเวียดนามและเกาหลีใต้ก็เป็นไปได้!
แต่ซัมมิตครั้งที่ 2 ล่มไม่เป็นท่า เพราะติดเรื่อง “คว่ำบาตร” และบ่งชี้ให้เห็นว่าคิม จอง-อึน ยังหวาดระแวงว่าจะถูกสหรัฐฯแว้งกัด หลังยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเป็น “ไพ่ใบสุดท้าย” แล้วหรือไม่!
บวร โทศรีแก้ว