พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางอองซาน ซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมา ชนะการเลือกตั้งปี 2558 ถล่มทลาย ทำให้เอ็นแอลดีได้จัดตั้งรัฐบาลพลเรือน สิ้นสุดยุค “รัฐบาลทหาร” นานหลายสิบปี แต่จนถึงบัดนี้ “กองทัพ” ก็ยังมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างสูง

การที่กองทัพบุกกวาดล้างรัฐยะไข่ ทำให้ชาวมุสลิมโรฮีนจาลี้ภัยเข้าสู่บังกลาเทศกว่า 7 แสนคน จนถูกประชาคมโลกรุมประณาม และการที่กองทัพต่อต้าน “การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ” ปี 2551 ซึ่งกองทัพเป็นผู้ร่างขึ้น บ่งชี้ว่ากองทัพยังทรงอำนาจและไม่ค่อยลงรอยกับรัฐบาลซูจี

หลังชนะเลือกตั้งปี 2558 เอ็นแอลดีจำต้องแชร์อำนาจให้กองทัพมีสัดส่วน ส.ส.ในรัฐสภาถึง 25% และให้กองทัพคุมกระทรวงสำคัญๆ ด้านความมั่นคง แต่เมื่อต้นเดือนนี้ สภาผู้แทนฯ ที่เอ็นแอลดีครองเสียงข้างมากลงมติท่วมท้นให้ตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ” ขึ้น ตามคำสัญญาของเอ็นแอลดีในช่วงหาเสียง โดยให้มีสมาชิก 45 คน มาจากเอ็นแอลดี 18 คน จากกองทัพ 8 คน ที่เหลือ 19 คนมาจากพรรคเล็กอื่นๆ

แม้รายละเอียดการปฏิรูปรัฐธรรมนูญยังไม่แน่ชัด แต่ถูกกองทัพคัดค้าน โดยอ้างว่ากองทัพไม่ได้ต่อต้านการปฏิรูป แต่สมาชิกคณะกรรมการปฏิรูปฯ แค่ 45 คนน้อยเกินไป กระบวนการปฏิรูปก็ไม่แฟร์ กองทัพยังเตือนว่าอย่าเปลี่ยนแปลง “สาระหลัก” ของรัฐธรรมนูญ ตอกย้ำคำเตือนของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผบ.ส.ส.เมียนมา ที่ให้สัมภาษณ์ นสพ.อาซาฮี ของญี่ปุ่น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากในเมียนมา โดยเฉพาะในขบวนการชาตินิยม ขณะที่กองทัพยังสู้รบกับกบฏกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆอยู่ กองทัพจึงยังมีบทบาททางการเมืองสูงยิ่งในฐานะผู้รักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ

การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปรัฐธรรมนูญมีขึ้นไม่กี่วันหลังศาลตัดสินประหารชีวิตฆาตกร 2 คนที่ฆ่านายโก หนี่ ทนายชาวมุสลิม ที่ปรึกษากฎหมายคนสนิทของนางซูจี ซึ่งถูกจ่อยิงตายอย่างเลือดเย็นขณะอุ้มหลานอยู่ที่ลานจอดรถสนามบินย่างกุ้งในปี 2560 ซึ่งช่วงนั้นเขาเป็นผู้นำการหาลู่ทางปฏิรูปรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย

...

โก หนี่ ยังช่วยร่างตำแหน่ง “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” ให้ซูจีหลังชนะเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับทหารห้ามผู้ที่มีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติเป็นประธานาธิบดี คาดว่าเพื่อสกัดไม่ให้ซูจีที่มีสามีเป็นชาวอังกฤษ (ศจ.ไมเคิล อารีส ที่เสียชีวิตแล้ว) เป็นประธานาธิบดี

ช่วงนั้นกองทัพก็ต่อต้านการร่างตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐให้ซูจีเช่นกัน โดยชี้ว่าอยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ หลายฝ่ายจึงสงสัยว่าคดีฆาตกรรมโก หนี่ พัวพันกับกองทัพหรือไม่!

บวร โทศรีแก้ว