สำนักงานสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สุดดีใจ ยานสำรวจ ฮายาบูสะ 2 ลงจอดบนดาวเคราะห์น้อย ริวงุ ห่างจากโลกไกลถึง 340 ล้านกิโลเมตรได้สำเร็จแล้ว เพื่อปฏิบัติภารกิจเก็บตัวอย่างฝุ่นและหินกลับมาวิเคราะห์ต่อไป
เมื่อ 22 ก.พ.62 สำนักข่าวรอยเตอร์ การ์เดียน และบีบีซี รายงาน สำนักงานสำรวจอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency) หรือ JEXA แถลงข่าวด้วยความดีใจ ยานสำรวจ ฮายาบูสะ2 (Hayabusa 2) สามารถลงจอดบนดาวเคราะห์น้อย 1999 JU3 หรือญี่ปุ่นเรียกว่า ดาวเคราะห์น้อย ริวงุ (Ryugu) ซึ่งอยู่ห่างจากโลกไปไกลถึง 340 ล้านกิโลเมตรได้สำเร็จแล้ว ซึ่งจุดลงจอดอยู่ห่างจากเส้นผ่าศูนย์กลางแค่เพียง 900 เมตรเท่านั้น หลังความพยายามในการลงจอดครั้งแรก เมื่อต.ค. 61 ต้องถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากมีความยากลำบากในการเลือกจุดลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยริวงุ ซึ่งพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยเต็มไปด้วยหิน อีกทั้งดาวเคราะห์น้อยยังมีความกว้างเพียงแค่ 1 กิโลเมตรเท่านั้น

...

เว็บไซต์การ์เดียน รายงานสำนักงานสำรวจอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่นได้แถลงเมื่อ 22 ก.พ.62 ว่า ยานฮายาบูสะ 2ได้ยิงกระสุนลักษณะคล้ายลูกปรายลงไปบนดาวเคราะห์น้อย เพื่อก่อให้เกิดฝุ่นบนพื้นผิวดาวเคราะห์ จากนั้นจึงเก็บรวบรวมเพื่อนำมาวิเคราะห์บนโลกต่อไป ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์น้อยริวงุ มีอินทรีย์วัตถุและน้ำจากราว4,600 ล้านปีก่อนในช่วงกำเนิดระบบสุริยะ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยูอิชิ ทสึดะ ผู้จัดการโครงการยานสำรวจฮายาบูสะ 2 กล่าวระหว่างการแถลงข่าวด้วยว่า เราอาจมีความกังวลบางประการที่ยานสำรวจฮายาบูสะ 2 ลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยริวงุล่าช้า แต่เราได้ดำเนินการตามแผนของเราในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาในการนำยานสำรวจฮายาบูสะ 2 ลงจอดได้สำเร็จ

...

ทั้งนี้ ยานสำรวจฮายาบูสะ 2 ได้เดินทางเข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยริวงุ ตั้งแต่มิ.ย.61 หลังใช้เวลาเดินทางจากโลกติดตามดาวเคราะห์น้อยริวงุป็นเวลานานถึง 3 ปีครึ่ง เพื่อปฏิบัติภารกิจเก็บตัวอย่างฝุ่นและหินบนดาวเคราะห์น้อยริวงุ กลับมายังโลกเพื่อนำมาวิเคราะห์ และพยายามเสาะหาการก่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิตต่อไป โดยก่อนหน้านี้ ยานสำรวจฮายาบูสะ2 ได้ปล่อยโรเวอร์สำรวจขนาดเล็ก 2 ลำลงจอดบนพื้นของดาวเคราะห์น้อยริวงุ เมื่อก.ย.61 ขณะที่ คาดว่ายานสำรวจฮายาบูสะ2 จะกลับมายังโลกพร้อมกับฝุ่นและหินจากดาวเคราะห์น้อย ริวงุ ในปี 2563
...
