คราวนี้ก็มาว่าถึงความงดงามของวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่โบราณ
“อิเคะบะนะ” ทั่วไปหมายถึง ศิลปะการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น วัสดุที่นำมาใช้ครอบคลุมในส่วนต่างๆของพืช เช่น กิ่ง ก้าน ใบ ดอกจนถึงไม้แห้ง ขนาด รูปร่าง วัสดุ ผิวสัมผัส สีของภาชนะที่ใช้ในการจัดดอกไม้ รวมถึงสถานที่และโอกาส ก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ
ไม่เพียงเท่านั้น “อิเคะบะนะ” ยังถูกเรียกว่า “คะโด” หมายถึง “วิถีแห่งดอกไม้” อีกรูปแบบหนึ่งในการฝึกสมาธิ และไตร่ตรองถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ต้นกำเนิดมาจากความคิดด้านศาสนาในเรื่องวัฏจักรทางธรรมชาติ : การเกิด การเติบโต การดับสูญ และการเกิดใหม่ สะท้อนถึงจิตวิญญาณการจัดดอกไม้แบบอิเคะบะนะได้อย่างลึกซึ้ง
พิธีชงชา หรือที่เรียกว่า “ซะโด (วิถีแห่งชา)” คือพิธีการเตรียม และเสิร์ฟชาที่ชงเสร็จแล้วให้แขกตรงหน้า ขั้นตอนอย่างเป็นทางการใช้เวลาราว 4 ชม. ทั้งการเสิร์ฟอาหาร (ฉะไคเซะกิ) และการเสิร์ฟชาอีก 2 ครั้ง (โคอิฉะ และอุซุฉะ) ในระหว่างพิธี ผู้ชงชาจะให้แขกได้เพลิดเพลินในสุนทรียภาพทางปัญญาและทางร่างกาย ไปถึงจิตใจที่สงบนิ่ง
ผู้ชงชาจะต้องใช้เวลาศึกษาหลายสิบปี รวมความงามของศิลปะ งานฝีมือ บทกวี การเขียนอักษร การจัดดอกไม้ ส่วน ห้องชงชาโดยทั่วไปจะขนาด 4.5 เสื่อทะทะมิ (1 ทะทะมิ = 1.62 ตร.ม.) ตกแต่งเรียบง่ายในแบบ “วะบิ” ประตูทางเข้าเรียกว่า “นิจิริคุจิ” มีขนาดเล็กมาก จะต้องก้มโค้งและทำตัวให้เล็กสุด สะท้อนถึงจิตใจที่ถ่อมตน
“วะโคชุ” อาหารญี่ปุ่น ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีรสชาติที่อร่อยเพียงลิ้นสัมผัส แต่ยังงดงามด้วยตาสัมผัส อาหารไคเซะกิ (ที่เสิร์ฟในพิธีชงชา) กับไคเซะกิ (ที่เสิร์ฟในงานเลี้ยง)...สองอย่างนี้ชื่อเรียกเหมือนกัน แต่เขียนไม่เหมือนกัน เป็นอาหารที่งดงามอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ องค์ประกอบสำคัญคือ “ภาชนะ” การจัดจานและการตกแต่งนั่นเอง...
...
ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ