31 มกราคม 2562 ผมตามท่านผู้ใหญ่ให้การต้อนรับมิสเตอร์คริสตอฟ ซุตแตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ประจำสำนักงานกรุงเทพฯ ผมเห็นว่าหน่วยงานระดับโลกหลายแห่งฟังทัศนะไอซีอาร์ซี จึงขอนำเรื่องขององค์กรนี้อย่างคร่าวๆ มารับใช้กันครับ
ไอซีอาร์ซีกำเนิดโดยนายอังรี ดูนังต์ เมื่อ พ.ศ.2406 ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ตอนนั้นนายดูนังต์มีข้อเสนอ 2 อย่างในการจัดตั้งไอซีอาร์ซี อย่างแรกคือ ในยามสงบให้ทุกประเทศจัดตั้งองค์กรของผู้มีจิตอาสาที่ได้รับการฝึกมาอย่างดี เพื่อให้การช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บในภาวะสงคราม อย่างที่สองคือ ให้มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อเป็นหลักประกันการได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีมนุษยธรรมของผู้ได้รับบาดเจ็บ
พ.ศ.2406 มี 16 ประเทศได้กำหนดแผนการจัดตั้งองค์กรบรรเทาทุกข์แห่งชาติ ปีต่อมาก็มีการลงนามในอนุสัญญาเจนีวาฉบับแรก ในสนธิสัญญากำหนดให้กองทัพต้องดูแลรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นทหารของฝ่ายใดก็ตาม และในปีนี้เองมีการเริ่มต้นใช้สัญลักษณ์ที่เป็นสากลสำหรับหน่วยแพทย์ คือ กากบาทสีแดงบนพื้นสีขาว
คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศมีพัฒนาการที่มีความสำคัญต่อโลกมากขึ้นเรื่อยๆ และครบรอบ 1 ศตวรรษ เมื่อ พ.ศ.2506 หลังจากเกิดความขัดแย้งอย่างหนักในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งในกัมพูชา ลาว และเวียดนาม การสู้รบกันอย่างหนักทำให้มีผู้อพยพเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาอยู่ในไทย สำนักงานคณะกรรมการระหว่างประเทศจึงตั้งสำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2518
พ.ศ.2520 มีการเพิ่มระเบียบพิธีในอนุสัญญาเจนีวาเพื่อคุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อในระดับนานาชาติและในสถานการณ์ขัดแย้งที่ไม่ถือเป็นระดับนานาชาติ ยิ่งทำให้องค์กรนี้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นจนกระทั่ง ICRC ได้รับสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติและพอถึง พ.ศ.2537 สหพันธ์กาชาดสากลก็ได้รับสถานะนี้
...
การได้รับสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ฯ ทำให้ทั้งสององค์กรสามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆของสหประชาชาติได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และสามารถแสดงความคิดเห็นในประเด็นปัญหาด้านมนุษยธรรมได้อย่างเป็นทางการ
นอกจากมีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯแล้ว ICRC ยังมีสำนักงานอยู่ที่ปัตตานีและเชียงใหม่ ICRC สนใจปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และปัญหาลักษณะคล้ายกันที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นและได้ลงไปช่วยเหลือฟื้นฟูความเป็นอยู่ของคนที่มีปัญหาให้มีรายได้พอเพียงโดยมีโครงการหลายอย่างเช่น โครงการส่งเสริมอาชีพ การทำงานด้านมนุษยธรรมของ ICRC ทำให้หลายองค์กรโลกเชื่อถือ ICRC ข้อมูลจาก ICRC อาจทำให้ประเทศหนึ่งประเทศใดมีสถานะในสังคมระหว่างประเทศที่เด่นขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ การลงโทษทางเศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆ อีกหลายอย่าง
ที่เมียนมาตกเป็นจำเลยของสังคมโลก จนสหภาพยุโรปประกาศจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีก็เพราะองค์กรพวกนั้นไปอ่านข้อมูลมาจาก blog ของ ICRC
เมื่อ ICRC เข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็จะสัมภาษณ์ผู้คนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งถ่ายภาพนำมาแพร่ขยายกระจายไปให้ผู้คนทั่วโลกได้รับรู้ เรื่องที่ดังๆใน blog ที่ว่าก็เช่น จากเมียนมาสู่บังกลาเทศ : บ้านเกิดที่ไม่ปลอดภัยกับอนาคตที่ไม่แน่นอน, เมียนมา-บังกลาเทศ : สถานการณ์ที่ไม่มีใครได้ประโยชน์, ยะไข่ : การเดินทางกลับต้องเป็นไปอย่างปลอดภัย สมัครใจและมีศักดิ์ศรี, เมียนมา : ความวุ่นวายในรัฐคะฉิ่นกับหลายชีวิตที่ต้องจากบ้าน ฯลฯ
ข้อมูลที่องค์กรพวกนี้ได้มักจะมาจากการลงพื้นที่จริงที่ลงเก็บข้อมูลอย่างเงียบเชียบและจากการสัมภาษณ์เหยื่อที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม องค์กรระหว่างประเทศที่มามีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อสถานะของไทย.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย