วิกฤติการเมืองใน “สาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา” ในอเมริกาใต้ ซึ่งมีประชากรราว 30 ล้านคน ปะทุรุนแรงรอบใหม่ตั้งแต่เดือนที่แล้ว หลังฝ่ายค้านลุกฮือขับไล่ประธานาธิบดีนิโกลาส มาดูโร ขณะที่นายฮวน กวยโด ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้านวัย 35 ปี ฉายา “เดอะ คิด” ประกาศตนเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว
สหรัฐฯและกว่า 20 ชาติในยุโรปและอเมริกาใต้หนุนกวยโด แต่รัสเซีย จีน เม็กซิโก ตุรกีและอีกหลายชาติหนุนมาดูโร วิกฤติการเมืองซึ่งมีมหาอำนาจ 2 ขั้วเข้าไปยุ่งคงยืดเยื้อ ถ้า “กองทัพ” ผู้มีอำนาจตัวจริงไม่เข้าแทรกแซง ซึ่งจนถึงขณะนี้ ทั้งวลาดิเมียร์ ปาดริโน รมว.กลาโหม และบรรดานายพลแกนนำกองทัพ 8 นาย ประกาศหนุนมาดูโร ชี้ว่าเป็นประธานาธิบดีที่ชอบธรรมตามกฎหมาย
ตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ซึ่งกุมอำนาจตั้งแต่ปี 2542 ก่อนถึงแก่อสัญกรรมเพราะหัวใจวายในปี 2556 สหรัฐฯเป็นไม้เบื่อไม้เมาและจ้องโค่นล้มรัฐบาลฝ่ายซ้ายเวเนซุเอลามาตลอด หลังมาดูโรขึ้นกุมอำนาจแทนในปี 2556 และชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2 อย่างมีปัญหาในเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว สหรัฐฯก็จ้องโค่นเขาเช่นกัน ขณะที่ทหารบางกลุ่มพยายามก่อรัฐประหารหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ถูกกองทัพสยบได้อย่างฉับไว
นั่นแสดงว่ากองทัพหลักค้ำบัลลังก์มาดูโรอยู่เหนียวแน่น นอกเหนือจาก “ศาลฎีกา” ซึ่งเข้าข้างมาดูโรชัดเจน รวมทั้งในการตั้ง “สภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาลิดรอนอำนาจรัฐสภา ซึ่งฝ่ายค้านครองเสียงข้างมาก
กวยโดพยายามเจรจาลับๆ กล่อมให้ทหารสนับสนุนตนเอง รวมทั้งประกาศจะให้อภัยโทษทหารที่แปรพักตร์ แต่ก็ไม่ง่าย เพราะขณะที่มาดูโรต้องพึ่งพากองทัพ กองทัพก็พึ่งพามาดูโรชนิดแยกไม่ออกเช่นกัน
มาดูโรใช้กลยุทธ์ “ซื้อตัว-ซื้อใจ” ผู้นำกองทัพเหมือนชาเวซ และมากกว่าด้วยซ้ำ โดยขณะที่ชาเวซมอบเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลและสถาบันสำคัญต่างๆของชาติให้ทหาร 25% มาดูโรก็ประเคนให้ถึง 44% ก่อนลดลงเหลือ 26% เมื่อเร็วๆนี้ แต่ถึงจะลดลง คณะรัฐมนตรีมาดูโร 32 คน มีทหารอยู่ถึง 9 คน ทหารยังควบคุมสถาบันทรงอิทธิพลอื่นๆ รวมทั้ง “พีดีวีเอสเอ” (PDVSA) รัฐวิสาหกิจน้ำมันแห่งชาติ แหล่งรายได้หลักของประเทศ
...
ทหารยังได้นั่งแท่นผู้นำหน่วยข่าวกรอง เครือข่ายโทรทัศน์ ธนาคาร อุตสาหกรรมรถยนต์ เหมืองแร่ และอื่นๆ ทหารจึงมีอำนาจสูงมาก และมักใช้อำนาจหน้าที่กอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองจนอิ่มหมีพีมัน ขณะที่ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัส
เวเนซุเอลาเป็นชาติสมาชิก “โอเปก” ผู้ร่ำรวยน้ำมัน เคยมีน้ำมันดิบสำรองอันดับ 1 ของโลก แต่เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม รุนแรงหลังราคาน้ำมันโลกตกต่ำและรัฐบาลบริหารผิดพลาด อีกทั้งถูกสหรัฐฯคว่ำบาตร ส่งผลให้อาหารและเวชภัณฑ์ขาดแคลนหนัก ปีที่แล้วอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงกว่า 1.3 ล้าน% และคาดว่าจะถึง 10 ล้าน% ในปีนี้ จนชาวเวเนซุเอลาหนีความทุกข์ยากไปอยู่ประเทศอื่นๆแล้วกว่า 3 ล้านคน
แต่พวกนายทหารเลวๆ ก็ยังใช้วิกฤติเป็นโอกาส หาประโยชน์จากธุรกิจสีเทาต่างๆ เช่น ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราในตลาดมืด หรือทุจริตโครงการนำเข้าอาหารที่ขาดแคลน ซึ่งรัฐบาลให้งบฯสนับสนุน
นักวิเคราะห์ชี้ว่ายิ่งมาดูโรอ่อนแอลงเท่าไหร่ กองทัพยิ่งมีอำนาจมากขึ้นเท่านั้น เพราะเขายิ่งต้องงอนง้อพึ่งกองทัพมากขึ้น มาดูโรจึงยกย่องว่ากองทัพคือ “กระดูกสันหลัง” ของชาติ เขายังพึ่งพา “กองกำลังพิทักษ์ชาติ” กับ “กองกำลังติดอาวุธฝ่ายพลเรือน” ซึ่งมีสมาชิก 1.6 ล้านคนอย่างมากเพื่อค้ำจุนอำนาจของตนเอง
พวกทหารที่ไม่พอใจมาดูโรหรือเสียผลประโยชน์พยายามก่อรัฐประหารหลายครั้ง เมื่อ 21 ม.ค.ปีนี้ทหาร 27 นายขโมยอาวุธจากค่ายทหารในกรุงการากัสและพยายามยึดอำนาจแต่ถูกจับทันควัน เมื่อ 4 ส.ค. กลุ่มทหารรวมทั้งนายพล 2 นายถูกจับหลังมีมือดีส่งโดรน 2 ลำไปจุดระเบิดเหนือขบวนพาเหรดทหารหวังสังหารมาดูโร
ปีที่แล้วก็มีทหารราว 180 นายถูกจับในข้อหาสมคบคิดก่อรัฐประหาร ส่วน นสพ. “นิวยอร์ก ไทมส์” รายงานเมื่อเดือน ก.ย.2561 ว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯลอบพบปะกับกลุ่มนายทหารเวเนฯ เพื่อวางแผนก่อรัฐประหาร แต่ล้มเหลว และมาดูโรกล่าวหาว่าสหรัฐฯตั้งกองทุนถึง 120 ล้านดอลลาร์ “ซื้อ” เหล่าทหารเวเนฯ ให้โค่นล้มตน
สหรัฐฯพยายามเล่นงานมาดูโรและกองทัพทุกวิถีทาง รวมทั้งสั่งคว่ำบาตร “พีดีวีเอสเอ” ที่มาดูโรกับทหารคุมอยู่ และเวลานี้ทหารเริ่มแตกเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งยอมล่มหัวจมท้ายกับมาดูโร อีกขั้วกลัวว่าถ้ามาดูโรถูกโค่นล้มจะพาพวกตนลงนรกไปด้วย จึงยังลังเลรอจังหวะแปรพักตร์อยู่
จะเข้าสูตรคลาสสิก “สุนัขตายเห็บกระโดดหนี” หรือไม่ ต้องดูกันยาวๆ!
บวร โทศรีแก้ว