หนึ่งในโรคระบาดรุนแรงที่ก่อเกิดอัตราการตายสูงในลูกสุกร คือโรคท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อไวรัสอย่างโรคพีอีดีวี (Porcine Epidemic Diarrhea Virus-PEDV) ซึ่งไวรัสชนิดนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ.2556 และในปีต่อมาพบว่ามีสุกรติดเชื้อประมาณ 50% จากการสัมผัสกับสิ่งที่ปนเปื้อนในมูลสัตว์ สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริโภค ทำให้นักวิจัยด้านสุขภาพต้องเร่งหาวิธีจัดการอย่างเร่งด่วน

ล่าสุด นักวิจัยด้านสุขภาพประชากรและพยาธิวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ทแคโรไลนา ในสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาขั้นตอนวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ข้อมูลที่มีอยู่จากฟาร์มสุกร ความเคลื่อนไหวของสุกรทุกชนิด ความหนาแน่นของสุกร และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพอากาศ พืชพันธุ์ในบริเวณนั้น ความเร็วลม อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน นำมาสร้างแบบจำลองพร้อมกับกำหนดพื้นที่ใกล้เคียงรัศมี 10 กิโลเมตรรอบๆฟาร์ม จากนั้นก็ป้อนข้อมูลแบบจำลองการระบาดของโรค เพื่อทำนายการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรคท้องร่วงพีอีดีวีในสถานที่และเวลาจริง ซึ่งผลที่ได้นั้นแม่นยำถึง 80%

นักวิจัยคาดว่ารูปแบบการทำนายโรคพีอีดีวี จะช่วยจัดอันดับปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อ หากได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากฟาร์มอื่นๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าความแม่นยำของแบบจำลองนี้จะเพิ่มขึ้น และการทำนายความเสี่ยงได้ตรงตามเวลาจริงจะช่วยให้เกษตรกรและสัตวแพทย์สามารถดูแลเชิงป้องกันในพื้นที่ความเสี่ยงสูงได้ทันการณ์ ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการปรับปรุงรูปแบบการพยากรณ์โรคในวงกว้าง เช่น กลุ่มเลี้ยงสัตว์ปีก.