การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยกำลังใกล้เข้ามา มีคำถามจำนวนไม่น้อยเขียนมาที่ไลน์แอทไอดี @ntp5 ถามถึงการเลือกตั้งเปรียบเทียบ
ส.ส.ไทยมี 500 คน โดยคิดจากประชากรประมาณ 1.3 แสนต่อ ส.ส. 1 คน ผมเคยตาม ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย อดีตรองประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อินเดีย ไปประชุมกับประธานรัฐสภาอินเดีย พบว่าอินเดียมีประชากร 1.3 พันล้าน แต่มี ส.ส.เพียง 543 คน จำนวนประชากรของอินเดียต่อ ส.ส. 1 คน มีมากถึง 2.3 ล้าน ส.ส.อินเดียแต่ละคนจึงค่อนข้างมั่นใจในตัวเองเพราะถือว่าเป็นตัวแทนจากคนนับล้าน
ไปดูงานรัฐสภาอินเดีย 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ.2543 และครั้งที่สองเมื่อ 29 สิงหาคม-5 กันยายน 2555 ส.ส.อินเดีย ไม่เข้มงวดการแต่งกายในสภา นุ่งกางเกงยีนส์ ใส่รองเท้าแตะได้ ไม่ต้องผูกไทใส่สูท แต่พิจารณาจากการอภิปรายในสภาแล้ว รู้สึกว่าพูดกันได้ดุเด็ดเผ็ดมันดี
อินโดนีเซียมีประชากร 260 ล้าน มี ส.ส. 560 คน (ประชากร 4.5 แสนต่อ ส.ส. 1 คน) รัสเซียมีประชากรเป็นร้อยล้าน แต่มี ส.ส.แค่ 450 คน (3.2 แสนต่อ ส.ส. 1 คน)
สหรัฐฯมีประชากร 328 ล้าน (7.4 แสนต่อ ส.ส. 1 คน) ลองเช็กดูจากหลายประเทศแล้ว ไทยมีประชากรน้อยกว่าแต่มี ส.ส.มากกว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากร
มีผู้ถามว่าระบบการเลือกตั้งของไทยที่จะใช้ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คล้ายกับประเทศใดบ้าง เท่าที่ผมนั่งนึกอยู่ในขณะนี้ ระบบของเราไม่คล้ายกับของประเทศใดเลยครับ ของเราจะใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบเลือกตัวแทนระบบเขต และใช้คะแนนรวมของระบบเขตจัดสรรที่นั่งที่เหลือในระบบบัญชีรายชื่อ
เล่าเรื่องระบบการเลือกตั้งของไทยที่อาจจะถูกใช้ใน พ.ศ.2562 ให้ฝรั่งมังค่าฟัง ทุกคนงงครับ เพราะไม่เคยมีใช้ที่ไหนมาก่อนเลยระบบที่ใช้กันมากในโลกใบนี้ก็เป็นระบบผู้ได้เสียงข้างมากที่สุดชนะ เขียนให้เข้าใจง่ายก็คือ ชนะด้วยเสียงข้างมากธรรมดา อย่างของอังกฤษ แคนาดา สหรัฐฯ อินเดีย มองโกเลีย ไนจีเรีย เมียนมา มาเลเซีย ฯลฯ
...
ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ประเทศไทยของเราใช้ระบบเลือกตั้งแบบ 1 เขตหลายคน เสียงข้างมากธรรมดาในช่วงนั้นคนไทยเลือกบุคคลมากกว่าพรรค มีพรรคการเมืองที่ชนะยกเขตได้น้อย กระทั่ง พ.ศ.2544 และ พ.ศ.2548 ไทยเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งมาเป็นแบบ 1 เขต 1 คน เสียงข้างมากธรรมดา พอถึง พ.ศ.2550 อ้าว กลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบ 1 เขตหลายคนอีกแล้ว พอการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 เราเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งอีก เปลี่ยนบ่อยเกินไป เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาซะจนคนลงคะแนนสับสน
ประเทศที่พัฒนาจนสามารถยืนอยู่บนแถวหน้าของโลกในทุกด้านมักจะมีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว แต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมโลก ตัวอย่างของสาเหตุที่สหรัฐฯ ต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เพื่อต้องการป้องกันการสะสมอำนาจที่อาจทำให้ประธานาธิบดีกลายเป็นเผด็จการ เมื่อ พ.ศ.2494 จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา 22 กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ ไม่ให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งได้เกิน 2 สมัยหรือ 8 ปี
เดิมวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ มาจากการแต่งตั้ง พ.ศ.2456 จึงมีการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 17 ให้ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งวุฒิสมาชิกแทนการแต่งตั้ง รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ร่างเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว ขณะที่ยังไม่มีเครื่องบิน แต่ก็ยังใช้มาจนถึงยุคที่มนุษย์มียานอวกาศบินออกไปนอกโลก เหตุที่รัฐธรรมนูญยังทันสมัยและใช้ได้ผลจนถึงปัจจุบัน เป็นเพราะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่การทำปฏิวัติรัฐประหารยกเลิกและมาร่างใหม่อย่างที่ทำกันในบางประเทศ
การเลือกตั้ง ส.ส.ในโลกนี้ที่ท่านถามกันมาก็มี ระบบผู้สมัครได้เสียงข้างมากที่สุดชนะ (ชนะด้วยเสียงข้างมากธรรมดา) ระบบ 1 เขตหลายคน เลือก 1 เบอร์ได้ทั้งพรรค (ที่บ้านเราเรียกว่าพวงใหญ่เบอร์เดียว) ระบบผสม (จัดสรรที่นั่งร่วมกัน) ระบบคู่ขนาน (จัดสรรที่นั่งแยกกัน) บัญชีรายชื่อแบบเปิด บัญชีรายชื่อแบบปิด ฯลฯ ระบบเหล่านี้ต้องอธิบายกันยาวครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com