รัฐบาลกาตาร์ ประกาศเตรียมถอนตัวจากสมาชิกกลุ่มโอเปก ต้นปีหน้า หลังเป็นสมาชิกมานานเกือบ 60 ปี ปัดไม่ได้มาจากปมการเมืองขัดแย้งกับซาอุฯ แต่ต้องการโฟกัสที่การส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว


เมื่อ 3 ธ.ค.61 สำนักข่าวต่างประเทศและรอยเตอร์ รายงาน นายซาอัด อัล คาบี รัฐมนตรีกระทรวงกิจการพลังงานของกาตาร์ แถลงข่าวการตัดสินใจครั้งสำคัญของรัฐบาลกาตาร์ ประกาศกาตาร์ เตรียมจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of Petroleum Exporting Countries) หรือกลุ่มโอเปกแล้ว ในวันที่ 1 มกราคม 2562 หลังจากเป็นสมาชิกโอเปกมานานเกือบ 60 ปี นับตั้งแต่เข้าร่วมเป็นสมาชิกโอเปกมาในปี 2505

นายอัล คาบี รมว.กิจการพลังงานของกาตาร์ ให้เหตุผลถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญของรัฐบาลกาตาร์ในการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปกเป็นชาติแรกว่าเนื่องจากรัฐบาลกาตาร์มีแผนจะมุ่งเน้นพัฒนาก๊าซธรรมชาติเหลว ขณะที่ปัจจุบัน กาตาร์ เป็นประเทศชั้นนำของโลกในการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว คิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของความต้องการในตลาดโลก

ไซต์งานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวของกาตาร์  ที่  Ras Laffan Industrial City ดำเนินกิจการโดยกาตาร์ ปิโตรเลียม
ไซต์งานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวของกาตาร์ ที่  Ras Laffan Industrial City ดำเนินกิจการโดยกาตาร์ ปิโตรเลียม

...

รอยเตอร์ แจ้งว่า รมว.กิจการพลังงานของกาตาร์ ยืนยันการตัดสินใจของรัฐบาลกาตาร์ที่จะถอนตัวจากสมาชิกกลุ่มโอเปกว่า ไม่ได้มีแรงผลักดันมาจากการเมือง โดยเฉพาะการถูกซาอุดีอาระเบียนำทีมชาติอาหรับคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลกรุงโดฮาต้องการโฟกัส มุ่งเน้นไปที่ศักยภาพของก๊าซธรรมชาติ เพราะคงไม่ใช่เรื่องที่อยู่บนความเป็นจริง สำหรับกาตาร์ ที่ทุ่มเทความพยายามและทรัพยากรในองค์กรซึ่งเราเป็นผู้เล่นที่ตัวเล็กมากๆ และไม่สามารถพูดได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ซีเอ็นเอ็น รายงานด้วยว่า กาตาร์ นับเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายเล็กที่สุดในบรรดาสมาชิกกลุ่มโอเปกที่มีจำนวนทั้งหมด 15 ประเทศ เพราะกาตาร์ผลิตน้ำมันได้ประมาณวันละ 600,000 บาร์เรล ในขณะที่ชาติสมาชิกโอเปกทั้งหมดรวมกันแล้วผลิตน้ำมันได้วันละเกือบ 25 ล้านบาร์เรลต่อวัน

นอกจากนั้น การ์ตายังตกอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติเพื่อนบ้านหลายประเทศในอ่าวเปอร์เซีย นำโดยซาอุดีอาระเบีย มาเป็นเวลานานนับ 1 ปีครึ่งแล้ว จึงทำให้กาตาร์จำเป็นต้องเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นหลักสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ