“ขบวนรถไฟสายหนึ่งวิ่งไปตามเส้นทางสายไหม ทอดยาวไปด้วยความปรองดองและสันติสุข กลุ่มประเทศหนึ่งก็เหมือนตู้รถไฟที่พ่วงไปกับหัวรถจักรหล่อหลอมทั้งวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ”
Isa Habbibayli รองประธานาธิบดี สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติอาเซอร์ไบจาน กล่าวคำอุปมาอุปไมยนี้ในงานประชุมสามัญประจำปี งานวัฒนธรรมโลก ไท่ฮู ครั้งที่ 5 ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อไม่นานที่ผ่านมา
ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งผู้เชี่ยวชาญจากเอเชียแอฟริกาและยุโรป ร่วมกันระดมสมองถึง “สะพานวัฒนธรรมแห่งใหม่” ที่ “the Belt and Road Initiative” รังสรรค์ขึ้นเพื่อเชื่อมชาติและอารยธรรม
Habbibayli ยังเผยว่า จีนเสนอให้ร่วมกันผสานเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมๆกัน ไม่ทิ้งสหายไว้ข้างหลัง ด้วยเส้นทางสำคัญสายไหม ตั้งแต่จีนไปไกลถึงยุโรปและแอฟริกา มีการแลกเปลี่ยนเช่นนี้มาแต่ครั้งประวัติศาสตร์
ตอกย้ำความน่าเชื่อถือด้วยคำพูดของผู้ขึ้นกล่าวในงานทั้ง Gohar Vardumyan นักวิจัยประวัติศาสตร์ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติอาร์เมเนีย ชี้ถึงการเชื่อมโยงสัทอักษรที่มีความคล้ายคลึงกันในภาษา คือมรดกของการแลกเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์
Wang Siming ศาสตราจารย์ประจำ ม.เกษตรศาสตร์เมืองนานกิง เสริมเรื่องที่จีนนำเสนอข้าว ถั่วเหลือง ผ้าไหม และชาจนแผ่ขยายไปทั่วโลก รวมถึงเมล็ดพันธุ์อีกอย่างน้อย 120 ชนิด
ตบท้ายด้วย Essam Sharaf อดีต นรม.อียิปต์ ย้ำว่า การฟื้นฟูประวัติศาสตร์เป็นหนทางทรงอานุภาพสุดที่จะโปรโมต the Belt and Road Initiative โดยเฉพาะอียิปต์กับจีนที่ต่างมีอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดในโลก
แต่ก็อย่าลืมว่า หมากใหญ่ที่รอขวางความฝันอันสูงสุดของจีนอยู่ นั่นคือ อินเดียกับญี่ปุ่น ซึ่งผนึกกำลังตั้ง “ระเบียงการเติบโตเอเชีย-แอฟริกา” (AAGC) ครอบ คลุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เน้นเส้นทางทะเลเอเชียกับแอฟริกา อันหมายถึงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย
...
ใครจะปล่อยให้ “ล่ำซำ” ข้ามหน้าข้ามตาภายใต้ปณิธานของตัวเองฝ่ายเดียว...
ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ