(ขอบคุณภาพ(ซ้าย)จาก:กรมส่งเสริมการส่งออกระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์)

ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯนับ 5,000 ร้านอ่วม ไม่มีน้ำปลาใช้ปรุงอาหาร จนต้องไปใช้เกลือ หลังFDA สั่งแบนน้ำปลาจากบริษัทในไทย รวมทั้งสิ้น 4 บริษัท ระบุอาจก่อให้เกิดสาร Histamine-แบคทีเรียเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค


กรมส่งเสริมการส่งออกระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงาน  สถานการณ์น้ำปลาไทยในสหรัฐฯ โดยสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ระบุ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ประกาศห้ามนำเข้าน้ำปลาจากไทยรวมทั้งสิ้น 4 บริษัทแล้ว จนทำให้ ปัจจุบัน ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ จำนวนประมาณ 5,000 ร้าน และจากการสอบถามร้านอาหารในอาณาเขตของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นิวยอร์ก สหรัฐฯ เริ่มประสบปัญหา ขาดแคลนน้ำปลาจากไทยแล้ว โดยบางร้านแก้ปัญหาด้วยการใช้เกลือแทน เนื่องจากเมื่อทางร้านอาหารใช้น้ำปลาจากประเทศอื่นๆ นอกจากจะทำให้รสชาติผิดเพี้ยนแล้ว ยังทำให้กลิ่นของอาหารแปลกไปจากที่ควรจะเป็นด้วย


ตามรายงานของ กรมส่งเสริมการส่งออกระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2561  FDA ได้จัดให้บริษัทโรงน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จำกัด (Thai Fishsauce Factory (Squid Brand) Co., Ltd.) เข้าอยู่ในบัญชี Import Alert # 16-120 และกักกันสินค้า น้ําปลาที่นําเข้าจากบริษัทฯ (Detention Without Physical Examination) อีกราย เนื่องจากละเมิดกฎระเบียบ HACCP สําหรับสินค้าอาหารทะเล

จากการตรวจสอบ Import Alert ข้างต้นปรากฏว่า มีบริษัทผู้ส่งออกสินค้า น้ําปลาของไทยที่อยู่ภายใต้การกักกันสินค้านี้ทั้งสิ้น 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทผู้ส่งออกน้ำปลาไทย ได้แก่ 1) Saigon International (2004) จ.ราชบุรี 2) Tang Sang Hah จ.สมุทรปราการ (ทิพรส) ครั้งแรก วันที่ 21 เม.ย. 57 และครั้งที่ 2 วันที่ 20 พ.ค. 57 และล่าสุด 3) Thai Fishsauce Factory (Squid Brand) Co., Ltd. (ตราปลาหมึก) เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 61 และ 4) Thang Nguan Hah 92 หมู่ 1 วัดปลาคู่อําเภอเมือง สมุทรสงคราม 21 เม.ย.57

...

ทั้งนี้ น้ำปลาของไทยเริ่มถูกกักกันและห้ามนำเข้าไปยังสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2557 หลังจาก เจ้าหน้าที่ของFDA ได้ดำเนินการตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำปลาเครื่องหมายการค้า ‘ทิพรส’ ของบริษัททั่งซังฮะ (Tang Sang Hah) ตามกฎระเบียบของFDA ที่จะต้องสุ่มตัวอย่างตรวจสอบ พบว่ากระบวนการผลิตน้ำปลาของบริษัททั่งซังฮะ อาจก่อให้เกิดสาร Histamine และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium Butolinum ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยสําหรับสินค้าอาหารทะเลภายใต้กฎระเบียบ HACCP

ภายหลังการตรวจสอบโรงงาน หน่วยงาน Office of Compliance, Center of Food Safety and Applied Nutrition ของ FDA จึงได้ส่งหนังสือเตือน (Warning Letter) และรายงานสรุปการประเมินโรงงาน (Establishment Inspection Report) ให้แก่บริษัทฯ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 โดยได้แจ้งบริษัทฯ ว่าขั้นตอน การผลิตน้ําปลาของบริษัทฯ ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามกฎระเบียบของ FDA