การศึกษาและค้นหาชีวิตจากต่างดาวมีมานานเกือบ 60 ปีแล้ว มีโครงการวิจัยที่ตั้งขึ้นมาจริงจังเพื่อการนี้ ก็เช่น โครงการเซติ (Search for extraterrestrial intelligence-SETI) ที่เปิดตัวตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1950 หรือโครงการเบรคทรู ลิสซึ่น (Breakthrough Listen) ที่มีแนวคิดว่าอารยธรรมขั้นสูงบนดาวเคราะห์ดวงอื่นอาจสร้างสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและโลกอาจจะสามารถรับสัญญาณเหล่านั้นโดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุประสิทธิภาพสูง

ถึงจะมีความก้าว หน้าทางดาราศาสตร์วิทยุและกำลังการประมวลผล ทว่าก็ยังไม่พบอะไรที่เป็นรูปธรรมเพื่อยืนยันว่ามีสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาในอวกาศจริง จะมีแค่การบันทึกสัญญาณบางอย่างที่ไม่รู้ต้นกำเนิด เช่น สัญญาณที่ได้รับเมื่อปี พ.ศ.2520 ทว่าก็ยังชี้ชัดไม่ได้ว่าเป็นฝีมือมนุษย์ต่างดาว ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์รัฐสวิส โลซาน ซึ่งทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ได้พัฒนาแบบจำลองทางสถิติที่พัฒนาจากกระบวนการทางฟิสิกส์ โดยเกี่ยวข้องกับการคำนวณความน่าจะเป็นของการถ่ายโอนอิเล็กตรอนของท่อนาโนคาร์บอน (nanotube) ซึ่งหากเปรียบว่าดวงดาวเป็นท่อนาโน และอิเล็กตรอนเป็นสัญญาณจากต่างดาว ก็อาจคำนวณความน่าจะเป็นของชนิดสัญญาณที่มนุษย์ต่างดาวปล่อยออกมาได้ถูกต้อง

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบหลายดวงที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในกาแล็กซีของเรา ก็ยิ่งทำให้โครงการสำรวจอวกาศตื่นตัว โดยเฉพาะการรอคอยการทำงานของโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดยักษ์พลังสูง (Square Kilometer Array) ที่กำลังก่อสร้างในแอฟริกาใต้และออสเตรเลียเพื่อนำไปสู่การไขความลับจักรวาล.

Credit : Claudio Grimaldi / EPFL