ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์อันดับที่ 4 ในระบบสุริยะและเป็นเพื่อนบ้านที่เราให้ความสนใจอย่างมากและมาโดยตลอด มีการวิจัยมากมายและส่งยานอวกาศรวมถึงเครื่องมือสุดไฮเทคไปสำรวจจนถึงขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ต่างคาดหวังว่าจะได้ข้อมูลที่ความคืบหน้า มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากการสำรวจที่ผ่านมา มีการพบร่องรอยสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่ทำให้เชื่อว่าดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้อาจเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เมื่อครั้งโบราณกาล

เมื่อเร็วๆ นี้มีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบราวน์ ในสหรัฐอเมริกา รายงานลงในวารสารโลกและวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ เสนอแนวคิดว่าดาวอังคารน่าจะเคยมีสิ่งมีชีวิตที่ต่างไปจากรูปแบบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิงและอาศัยอยู่ใต้ผิวน้ำนับหลายร้อยล้านปีก่อน เพราะบนดาวน่าจะมีพลังงานทางเคมีเพียงพอที่เป็นเสบียงค้ำจุนให้จุลินทรีย์ขนาดเล็กๆเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งจากการศึกษาพื้นฐานด้านฟิสิกส์ และคำนวณทางเคมี พบว่าพื้นผิวดาวอังคารในยุคโบราณมีแนวโน้มว่าจะมีไฮโดรเจนละลายได้มากพอที่จะทำให้เกิดเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ของสิ่งมีชีวิตอยู่ใต้ผิวดาว

นักวิจัยเผยว่าถ้าจะเคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคาร ก็น่าจะมีรูปแบบคล้ายคลึงกับระบบนิเวศของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บนพื้นโลก การศึกษาครั้งใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการที่เรียกว่าการสลายตัวของรังสี (radiolysis) จะแบ่งโมเลกุลของน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน โดยจะสร้างไฮโดรเจนจำนวนมากขึ้นมาที่ใต้พื้นผิวดาวเมื่อสมัยโบราณ ซึ่งคาดว่าความเข้มข้นของไฮโดรเจนที่เปลือกดาวอังคารประมาณ 4,000 ล้านปีก่อนจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับแหล่งที่จุลินทรีย์อาศัยอยู่บนโลก.

Credit : เว็บไซต์ metro.co.uk