บีบีซี เผยเบื้องลึกของระบบเตือนภัยสึนามิของอินโดนีเซีย พบว่ามีข้อบกพร่องหลายอย่างที่ทำให้การเตือนภัยไม่แม่นยำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากสึนามิเมื่อสัปดาห์ก่อนจำนวนมาก...

สำนักข่าว บีบีซี เผยแพร่บทความเจาะลึกเรื่องระบบเตือนภัยสึนามิของประเทศอินโดนีเซีย หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวระดับ 7.5 ที่เกาะสุลาเวสี เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.ย. และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1,300 รายแล้ว จนทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดระบบเตือนภัยจึงไม่อาจช่วยชีวิตของผู้คนเอาไว้ได้

แผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลา 18.03 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งสำนักงานธรณีฟิสิกส์และอุตุนิยมวิทยาอินโดนีเซีย หรือ BMKG ประกาศเตือนภัยสึนามิทันที โดยเตือนว่าจะมีคลื่นสูงประมาณ 0.5-3 เมตร พัดเข้าสู่ชายฝั่ง ก่อนจะยกเลิกเตือนภัยในอีก 30 นาทีต่อมา อย่างไรก็ตาม เมืองปาลูซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวแคบๆ กลับถูกถล่มด้วยคลื่นสึนามิสูงถึง 6 เมตร สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเหยื่อส่วนใหญ่ในหายนะครั้งนี้

คลื่นยักษ์สึนามิทำลายเมืองติดชายฝั่งของเมืองปาลูพังพินาศ
คลื่นยักษ์สึนามิทำลายเมืองติดชายฝั่งของเมืองปาลูพังพินาศ

...

เรื่องดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายออกมาโจมตี BMKG ว่ายกเลิกเตือนภัยสึนามิเร็วเกินไป แต่ทางสำนักงานฯ ยืนยันว่า ตอนที่สึนามิพัดเข้าเมืองปาลู การประกาศเตือนยังมีผลอยู่ โดยนางดวีโกริตา คาร์นาวาตี ประธานหญิงของ BMKG บอกกับสำนักข่าวจาการ์ตา โพสต์ ว่า คำเตือนสึนามิสิ้นสุดในเวลา 18.37 น. หลายนาที หลังจากสึนามิลูกที่ 3 ซึ่งเป็นลูกสุดท้ายพัดเข้าเมืองปาลู และไม่มีสึนามิตามมาอีกหลังจากนั้น

อย่างไรก็ตาม บีบีซี รายงานว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่เป็นวิธีการส่งคำเตือน เพราะจากการเปิดเผยของกระทรวงสารสนเทศของอินโดนีเซีย คำเตือนสึนามิถูกส่งให้ประชาชนอย่างต่อเนื่องผ่านข้อความโทรศัพท์ แต่โฆษกของ BMKG ยืนยันว่า แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวทำลายเสาไฟฟ้าและเสาสื่อสารในพื้นที่ไปมาก และไม่มีเสียงไซเรนเตือนภัยบริเวณชายฝั่งด้วย ประชาชนจึงอาจไม่ได้รับคำเตือน

ขณะเดียวกัน แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีระบบเตือนภัยสึนามิล่วงหน้า ประกอบด้วยเครือข่ายสถานีบรอดแบนด์จับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว (seismic broadband station) 170 แห่ง, สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน (accelerometer station) 238 แห่ง และอุปกรณ์วัดความเปลี่ยนแปลงของระดับนำ้ทะเลในแนวดิ่ง (tidal gauge) 137 ตัว

มัสยิดและอาคารริมทะเลของเมืองปาลู ถูกคลื่นสึนามิทำลาย
มัสยิดและอาคารริมทะเลของเมืองปาลู ถูกคลื่นสึนามิทำลาย

แต่นายราห์มัต ตริโยโน หัวหน้าศูนย์แผ่นดินไหวและสึนามิของ BMKG บอกกับ บีบีซี ว่า ระบบที่มีในปัจจุบันนั้นขาดแคลนมาก โดยพวกเขามีงบประมาณพอสำหรับซ่อมบำรุงเซนเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหวเพียง 70 เครื่อง จากทั้งหมด 170 เครื่องเท่านั้น แม้ว่าระบบจะตรวจจับสึนามิที่เกิดขึ้นล่าสุดได้ แต่ไม่สามารถวัดระดับของสึนามิได้อย่างแม่นยำ ขณะที่ tidal gauge ที่อยู่ใกล้เมืองปาลูที่สุดก็อยู่ห่างออกไปถึง 200 กม. และวัดได้ว่าระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่าง ‘ไม่มี’ นัยสำคัญที่ 6 ซม.

“ที่ปาลู เราไม่มีข้อมูลสังเกตการณ์เพียงพอ เราจึงต้องใช้ข้อมูลที่เรามีและประกาศไปตามนั้น” นายตริโยโนบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ “ถ้าเรามี tidal gauge หรือข้อมูลที่เหมาะสมในปาลู แน่นอนว่าสถานการณ์คงจะดีกว่านี้ นี่เป็นเรื่องที่เราต้องประเมินเพื่ออนาคต”

ความล้มเหลวในระบบเตือนภัยยังไม่หมดเพียงเท่านี้ จริงๆ แล้วอินโดนีเซียมีระบบเตือนภัยที่ทันสมัยกว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงเครือข่ายทุ่น 21 ทุ่นที่ได้รับบริจาคมาจากสหรัฐฯ, เยอรมนี และมาเลเซีย หลังเกิดสึนามิปี 2547 โดยมันสามารถส่งคำเตือนที่ล้ำหน้าด้วยข้อมูลที่รวบรวมจากเซนเซอร์ใต้ทะเล

เรือลำหนึ่งถูกคลื่นสึนามิซัดจนเกยตื้น
เรือลำหนึ่งถูกคลื่นสึนามิซัดจนเกยตื้น

...

แต่ปัจจุบันกลับไม่มีทุ่นใดที่ใช้การได้เลย เพราะได้รับความเสียหายจากฝีมือคน บ้างก็ถูกขโมย ส่วนการเปลี่ยนระบบทดแทนก็ล่าช้าเนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ BMKG จึงพยากรณ์สึนามิที่อาจเกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหวได้โดยใช้เพียงข้อมูลจากความลึกและระดับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเท่านั้น “ถ้ามีข้อมูลจากทุ่นนั้นล่ะก็ ระดับการเตือนภัยสึนามิของเราคงแม่นยำมากขึ้น” นายตริโยโนบอกกับบีบีซี ภาษาอินโดนีเซีย.