ปลวกเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มักจะก่อความเสียหายให้กับบ้านเรือน โดยอาหารอันโอชะของมันก็คือไม้ กระดาษ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบ แต่ในทางนิเวศวิทยาแล้วปลวกมีประโยชน์และสำคัญต่อระบบนิเวศป่าไม้ มันช่วยย่อยสลายซากพืชหรือต้นไม้ที่หักล้มให้กลายเป็นอินทรียวัตถุในดิน ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของป่า และจัดเป็นแมลงทางสังคมที่อยู่ในอันดับไอสอปเทอรา (Isoptera) มีการแบ่งวรรณะหน้าที่การงานเป็น 3 แบบคือ ปลวกที่สร้างรังและหาอาหาร ปลวกที่ป้องกันศัตรู และปลวกที่มีหน้าที่สืบพันธุ์วางไข่

เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลียและจากมหาวิทยาลัยเกียวโตในญี่ปุ่นสงสัยว่าปลวกบางชนิดอาจแพร่พันธุ์โดยไม่จำเป็นต้องมีปลวกเพศผู้ หลังจากพบว่าปลวกสายพันธุ์ Glyptotermes nakajimai ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลห่างไกลแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น เมื่อนำไปเปรียบเทียบสัณฐานวิทยาของกลุ่มปลวกต่างๆ ทั้งในพื้นที่เดียวกัน และปลวกจากพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่กันอย่างคละเพศ นักวิจัยพบว่ากลุ่มปลวกที่มีแต่เพศเมีย ราชินีปลวกของกลุ่มนี้จะมีถุงกักเก็บอสุจิ (spermathecae) ที่ว่างเปล่า ซึ่งไข่ของมันก็จะไม่ได้รับการปฏิสนธิ ในขณะที่กลุ่มปลวกที่มีทั้ง 2 เพศอยู่รวมกัน ราชินีปลวกของกลุ่มนี้จะมีอสุจิจำนวนมากถูกเก็บไว้ในถุง

นักวิจัยเผยว่า ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับปลวกเพศผู้เลยในกลุ่มปลวกสายพันธุ์ Glyptotermes nakajimai ที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลดังกล่าว นั่นหมายความว่าปลวกกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการแพร่พันธุ์สร้างอาณาจักรปลวกของตน โดยไม่ต้องใช้การผสมพันธุ์จากอสุจิของปลวกเพศผู้นั่นเอง.

Glyptotermes nakajimai Credit : University of Sydney