อินโดนีเซียประกาศขอรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ หลังเจอมหันตภัยแผ่นดินไหวใหญ่ตามด้วยสึนามิถล่มเมืองชายฝั่งบนเกาะสุลาเวสี โดยยอดผู้เสียชีวิตยังไม่นิ่ง เนื่องจากหลายพื้นที่ จนท.กู้ภัยยังเข้าไม่ถึง เหตุเส้นทางคมนาคม-ระบบสื่อสาร-สาธารณูปโภคยังเดี้ยงขณะเดียวกัน ทางการสั่งขุดหลุมขนาดใหญ่ในเมืองปาลู เพื่อทำพิธีฝังร่างเหยื่อแผ่นดินไหวและสึนามิซัดถล่มชายฝั่ง ชุดแรกกว่า 300 ศพ ด้านการช่วยเหลือ 32คนไทย ไร้ปัญหา ทยอยออกจากพื้นที่ประสบภัยได้แล้ว ส่วนที่ญี่ปุ่นยังอ่วมหลังพายุไต้ฝุ่น “จ่ามี” พัดถล่มตั้งแต่หมู่เกาะโอกินาวา โอซากา ไปจนถึงกรุงโตเกียว

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.5 แมกนิจูด ที่เกาะสุลาเวสี ทางภาคกลางอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ “สึนามิ” สูงถึง 6 เมตร ซัดถล่มหลายเมืองตามชายฝั่ง จนมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และยังสูญหายเป็นจำนวนมาก ว่า นายสุโตโป ปุรโว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย (บีเอ็นพีบี) ได้ออกมาแถลงว่า เจ้าหน้าที่จะเร่งฝังศพหมู่ผู้เสียชีวิต เพื่อป้องกันโรคระบาดและ ด้วยเหตุผลทางศาสนาอิสลาม โดยขุดหลุมขนาดใหญ่ หลายหลุม รวมทั้งหลุมขนาดยักษ์ กว้าง 10 เมตร ยาว 100 เมตร และอาจขยายให้ใหญ่ขึ้นอีกเพื่อฝังศพ ถึง 1,300 ศพ ถ้าจำเป็น ที่เมืองปาลู ซึ่งอยู่ห่างกรุง จาการ์ตา ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 1,500 กิโลเมตร เพื่อฝังศพหมู่ชุดแรกกว่า 300 ศพ

นายนูโกรโฮยังแถลงว่า เมืองดองกาลา ทางเหนือ ของเมืองปาลู ซึ่งมีประชากรราว 300,000 คน และอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากที่สุด รวมทั้งอีก 2 อำเภอ ที่อยู่ใกล้เคียง การสื่อสารโทรคมนาคมและ ไฟฟ้าถูกตัดขาด ยังไม่รู้ชะตากรรมของชาวบ้าน แต่คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตอีกจำนวนมาก

...

ด้านนายโธมัส เลมบัง ประธานสำนักงานการลงทุนแห่งชาติอินโดนีเซีย โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลทวิตเตอร์ ว่า รัฐบาลอินโดนีเซียร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อรับมือและบรรเทาภัยพิบัติครั้งนี้ โดยประธานาธิบดีโจโค “โจโกวี” วิโดโด ได้ให้อำนาจตนประสานงานรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลและภาคเอกชนจากทั่วโลก

ส่วนปฏิบัติการกู้ภัยและค้นหาผู้รอดชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง ยังยากลำบาก เพราะขาดเครื่องจักรกลหนัก อีกทั้งมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง ขณะที่ผู้ประสบภัยหลายแสนคนยังขาดที่พัก อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค แม้จะมีการส่งข้าวในสต๊อกรัฐบาลไปช่วยแล้วหลายร้อยตัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณขั้นต้น 560,000 ล้านรูเปีย (1,200 ล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูเขตภัยพิบัติ และสัญญาจะจ่ายเงินชดเชยผู้ประสบภัยพิบัติครั้งนี้ด้วยแต่ยังไม่ระบุจำนวน

หน่วยกู้ภัยยังเร่งช่วยเหลือผู้ติดอยู่ใต้ซากอาคาร ที่พังถล่มหลายพันหลังในเมืองปาลู ซึ่งคาดว่ามีผู้ติด อยู่ใต้ซากปรักหักพังหลายร้อยคน รวมทั้งที่โรงแรม “โรอา โรอา” สูง 10 ชั้น ซึ่งคาดว่ามีผู้ติดอยู่กว่า 60 คน และสามารถช่วยออกมาได้แล้ว 3 คน แต่ยังมีเสียงเด็กร้องไห้และเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ติดอยู่ใต้ซากโรงแรมดังระงม ส่วนห้างสรรพสินค้า “ตาตูรา” สูง 8 ชั้น คาดว่ามีผู้ติดอยู่ไม่น้อยเช่นกัน อีกทั้งตรวจพบสัญญาณโทรศัพท์มือถือของผู้ติดอยู่ข้างใน ขณะที่ชาวบ้านหลายร้อยคนไปค้นหาญาติพี่น้องของตนที่นั่น และตามโรงเก็บศพหลายแห่งด้วย

ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า ชาวบ้านที่หิวโหย ขาดอาหาร น้ำ และยา ได้ออกปล้นสะดมร้านค้าและ ห้างสรรพสินค้าในเมืองปาลู โดยที่ตำรวจได้แต่ยืนดู โดยไม่ขัดขวาง และมีนักโทษในเรือนจำ 3 แห่ง ในเมือง ปาลูและเมืองดองกาลากว่า 1,200 คน ฉวยโอกาสหลบหนีไปหลังกำแพงเรือนจำพังถล่มเพราะแผ่นดินไหว

ส่วนสนามบินเมืองปาลูที่เสียหายอย่างหนัก ล่าสุด ทางกองทัพได้เข้าไปดูแลและปรับพื้นที่ใช้เป็น ฐานปฏิบัติการกู้ภัยและลำเลียงผู้บาดเจ็บ รวมถึงเปิดพื้นที่บางส่วนสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งไทย ออสเตรเลีย จีน ไปจนถึง สหรัฐอเมริกา เสนอความช่วยเหลือด้านการกู้ภัยและ บรรเทาทุกข์อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้เงินช่วยเหลือเร่งด่วน 1.5 ล้านยูโร (ประมาณ 56 ล้านบาท) และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกทรง สวดมนต์ให้เหยื่อภัยพิบัติด้วย อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ซึ่งลงพื้นที่ภัยพิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.ประกาศจะเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยเต็มที่ทุกวิถีทาง และขอให้ประชาชนอดทน

นอกจากนี้ สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซียระบุว่า ขณะเกิดแผ่นดินไหว เชื่อว่ามีชาวต่างชาติอยู่ในเมืองปาลูอย่างน้อย 71 คน ส่วนใหญ่ ปลอดภัย แต่มี 5 คนยังสูญหาย เป็นชาวฝรั่งเศส 3 คน เกาหลีใต้ 1 คน มาเลเซีย 1 คน ซึ่งคาดว่าพักในโรงแรมโรอา โรอา ที่พังถล่ม

ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์อินโดนีเซีย (บีเอ็มเคจี) ถูกโจมตีอย่างหนัก กรณีที่ระบบแจ้งเตือนภัยทำงานล้มเหลว เพราะรีบยกเลิกการแจ้งเตือนภัยสึนามิหลังแจ้งเตือนได้แค่ 34 นาที แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่า สึนามิเกิดขึ้นในช่วงการแจ้งเตือนภัยยังไม่ถูกยกเลิก อีกทั้งระบบเตือนภัยที่จัดทำหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 9.0 แมกนิจูดและเกิดสึนามิซัดถล่มเกาะสุมาตราเมื่อปี 2547 ก็ไม่สมบูรณ์เพราะขาดงบประมาณ ทั้งนี้ แผ่นดินไหวที่สุมาตราและสึนามิที่ซัดถล่มประเทศต่างๆรอบมหาสมุทรอินเดียในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตกว่า 226,000 คน รวมถึงในอินโดนีเซียกว่า 120,000 คน

สำหรับการช่วยเหลือคนไทย 32 คน ในเมืองปาลูนั้น น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ว่า กระทรวงฯได้รับรายงานล่าสุดจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ว่า ขณะนี้นักศึกษาและพนักงานบริษัทชาวไทย จำนวน 15 คน เดินทางถึงท่าอากาศยาน Mutiara Sis Al-Jufri เมืองปาลูแล้ว รอเดินทางออกจากเมืองปาลูโดยเครื่องบินลำเลียง ซี-130 ของอินโดนีเซีย โดยจะมีผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศและผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ที่ร่วมเดินทางไปกับทางการอินโดนีเซีย ด้วยเครื่องบินซี-130 จะนำคนไทยทั้ง 15 คน มายังเมืองมากัสซาร์ โดยคาดว่าจะเดินทางถึงเมืองมากัสซาร์ภายในช่วงเที่ยง ขณะที่นายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูตไทยประจำอินโดนีเซีย เดินทางถึงเมืองมากัสซาร์ เพื่อรอรับคนไทยกลุ่มนี้แล้ว

...

น.ส.บุษฎีกล่าวอีกว่า ส่วนนักศึกษาที่เหลือ 17 คน สามารถติดต่อได้แล้ว โดยผู้แทนบริษัทซีพี อินโดนีเซีย กำลังเดินทางโดยรถยนต์จากเมืองมากัสซาร์ไปเมืองปาลู เพื่อไปรับนักศึกษากลุ่มดังกล่าวที่จุดนัดหมายไปยังท่าอากาศยานเมืองปาลู เพื่อเดินทางต่อมายังเมืองมากัสซาร์โดยเครื่องบินซี-130 อินโดนีเซียในเที่ยวบินต่อไป ทั้งนี้ คนไทยทั้ง 32 คนปลอดภัย ขณะที่โฆษกหน่วยงานบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย แจ้งยอดผู้เสียชีวิตล่าสุด 832 ราย ในจำนวนนี้อยู่ที่เมืองปาลู 821 ราย และ ที่เมืองดองกาลา 11 ราย ทางการประกาศภาวะฉุกเฉินระหว่างวันที่ 28 ก.ย. ถึง 11 ต.ค. เพื่อให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่อย่างเต็มที่ คาดว่ามีชาวต่างชาติอย่างน้อย 71 คนได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่เมืองปาลู ขณะที่ส่วนใหญ่ปลอดภัย

ส่วนความคืบหน้าไต้ฝุ่น “จ่ามี” ความรุนแรงระดับ 1 จากทั้งหมด 5 ระดับ พัดถล่มชายฝั่งเมืองโอซากาทางภาคตะวันตกญี่ปุ่น เมื่อคืนวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังพัดถล่มหมู่เกาะโอกินาวา ด้วยความเร็วลมที่จุดศูนย์กลางสูงสุด 216 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค.มีรายงานว่าผลจากพายุไต้ฝุ่นจ่ามี ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 คน บาดเจ็บกว่า 130 คน มีผู้สูญหาย 2 คน โดยชายคนหนึ่งเสียชีวิตเพราะดินถล่มที่เมืองท็อตโตริ อีกคนจมน้ำตายที่เมืองยามานาชิ ใกล้กรุงโตเกียว

ฤทธิ์ไต้ฝุ่น “จ่ามี” ยังทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง น้ำท่วม ดินถล่ม ต้นไม้และเสาไฟฟ้าหักโค่น รวมทั้งที่โอซากา กรุงโตเกียว และเกาะ ฮอกไกโดทางภาคเหนือสุด ทำให้ประชาชนกว่า 400,000 ครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้ เที่ยวบินกว่า 230 เที่ยวยังถูกยกเลิกเมื่อ 1 ต.ค. หลังวันก่อนถูกยกเลิกกว่า 1,000 เที่ยวบินขณะที่รถไฟหัวกระสุน “ชินกันเซน” และรถไฟธรรมดาทุกสายระงับการให้บริการ รวมทั้งที่กรุงโตเกียว ทำให้มีผู้โดยสารติดค้างหลายพันคน แต่สนามบินนานาชาติคันไซใกล้เมืองโอซากาเปิดรันเวย์ให้เครื่องบินขึ้นลงได้แล้ว หลังถูกปิดชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม “จ่ามี” เริ่มอ่อนกำลังลงขณะมุ่งหน้าไปทางตะวันออก

...

ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเผชิญภัยพิบัติรุนแรง ทั้งจากไต้ฝุ่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว และคลื่นความร้อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเมื่อต้นเดือน ก.ย. ไต้ฝุ่น “เชบี” ไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี พัดถล่มภาคตะวันตกญี่ปุ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน และสนามบินคันไซ เสียหายอย่างหนักจนถูกสั่งปิด เพิ่งเปิดใช้งานได้ตามปกติเมื่อ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ต้องมาเจอฤทธิ์ไต้ฝุ่นจ่ามีถล่มซ้ำอีก

ต่อมาในช่วงเย็นวันที่ 1 ต.ค.ตามเวลาในไทย สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ ที่เกาะสุลาเวสี ภาคกลางอินโดนีเซีย ว่า เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียแถลงยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 844 คน แต่คาดว่าผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอีกมาก หลังจากที่หน่วยกู้ภัยเริ่มเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้นและยังต้องลุ้นการค้นหา และช่วยเหลือผู้ติดอยู่ใต้ซากอาคารที่พังถล่มจำนวนมากในเมืองปาลู ส่วนที่เมืองเปโตโบ ที่อยู่ติดกันสถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เมื่อเกิดปรากฏการณ์หน้าดินทรุดยุบตัวเป็นบริเวณกว้างจากอิทธิพลแผ่นดินไหว เจ้าหน้าที่คาดว่าน่าจะมีผู้ถูกฝังอยู่ในดินโคลนนับร้อยคน

ส่วนการอพยพคนไทยจากเมืองปาลูนั้น มีรายงานว่า นายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา พร้อมด้วยผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ และกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ เมืองเดนปาซาร์ (บาหลี) ไปรับนักศึกษาไทย 26 คน นักธุรกิจไทย 1 คนและพนักงานบริษัทคนไทย 3 คน รวม 30 คน ที่ท่าอากาศยานเมืองมากัสซาร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทุกคนมีกำลังใจดี ขณะที่มีนักศึกษาไทย 2 คน ประสงค์พำนักต่อกับเพื่อนสนิทชาวอินโดนีเซียที่เมืองปาลู