REUTERS/Marcos Brindicci

มีการวิจัยก่อนหน้านี้เผยถึงความเชื่อมโยงว่าผู้ที่กินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำจะประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักในระยะสั้น รวมถึงปรับปรุงปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เช่น โรคเบาหวาน แต่เมื่อเร็วๆนี้ นักวิจัยจากโรงพยาบาลหญิงบริกแฮม ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา รายงานลงวารสารด้านสาธารณสุขแลนเซ็ทว่าผู้ที่ลดคาร์โบไฮเดรตโดยกินเนื้อสัตว์หรือเนยแข็งแทนการกินผักหรืออาหารจำพวกถั่ว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

จากการติดตามผู้ใหญ่อายุระหว่าง 45-65 ปี มากกว่า 15,000 ราย เป็นเวลานานถึง 25 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 6,283 ราย นักวิจัยประเมินว่าผู้ที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปและกินคาร์โบไฮเดรตปานกลางหรือได้รับแคลอรีจากคาร์โบไฮเดรตประมาณ 50-55% จะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 33 ปี แต่ถ้าได้รับแคลอรีจากคาร์โบไฮเดรตสูงกว่า 70% จะสัมพันธ์กับอายุขัยที่คาดหมายไว้เฉลี่ย 32 ปี และหากได้รับแคลอรีจากคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่า 40% จะสัมพันธ์กับอายุขัยที่คาดหมายไว้เฉลี่ย 29 ปี

นักวิจัยเผยว่า การวิจัยนี้ไม่ได้มุ่งศึกษาแค่ว่าการกินคาร์โบไฮเดรตน้อยลงอาจส่งผลโดยตรงต่ออายุขัย แต่ยังมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนประเภทของอาหาร เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่โปรตีนจากพืชจะช่วยให้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น เพราะไปช่วยลดการอักเสบและความเครียดที่เรียกว่า อ็อกซิเดทีฟ (oxidative) คือการที่อนุมูลอิสระในเซลล์อยู่ในระดับเกินสมดุลต่อสารกำจัดอนุมูลอิสระ ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในเซลล์จนสามารถทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อได้ และการวิจัยใหม่นี้แสดงให้เห็นว่าคาร์โบไฮเดรตในปริมาณปานกลางจะดีที่สุด ในขณะที่ระดับต่ำเกินไปหรือสูงเกินไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต.

...