ภัยพิบัติอินโดนีเซียยังหนัก ยอดตายจากเหตุแผ่นดินไหว-สึนามิ ถล่มเกาะสุลาเวสี ส่อทะลุหลักพัน การเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยเป็นไปด้วยความทุลักทุเล การคมนาคม-สื่อสารยังเดี้ยง ผู้คนหิวโหยพากันฉกฉวยปล้นสะดมข้าวของในห้าง หนำซ้ำนักโทษยังฉวยโอกาสกำแพงคุกเมืองปาลูพังแหกคุกนับร้อย ด้าน “บิ๊กป้อม” สั่งกองทัพเตรียมช่วยเหลือเหยื่อดินไหวอินโดฯ ส่วนสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ประสานทูตทหาร-รมว.ท่องเที่ยวอินโดฯ ขอให้อพยพ 32 คนไทยออกจากเมืองปาลูเป็นการด่วนแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นพร้อมรับมือพายุไต้ฝุ่น “จ่ามี” เต็มที่ ทั้งอพยพคน-หยุดบริการรถไฟ-ปิดสนามบินที่โอซากาและโตเกียว
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ถึงความคืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา บนเกาะสุลาเวสี ตอนกลางของประเทศ และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมาสูงสุดถึง 6 ม. ขณะที่แรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวยังรับรู้ไปไกลถึงตอนใต้ของเกาะ ที่เมืองใหญ่สุด มากัซซาร์ และกาลิมันตัน เกาะใกล้เคียง รวมถึงส่วนหนึ่งของเกาะบอร์เนียว ว่าภารกิจการช่วยเหลือทั้งจากกองทัพอินโดนีเซียและเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย ต่างระดมกำลังค้นหาเหยื่อที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร ขณะได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ เฉพาะที่โรงแรมโรอา-โรอา ความสูง 8 ชั้น ในเมืองปาลู ซึ่งพังราบเป็นหน้ากลอง คาดว่าอาจมีคนติดอยู่ใต้ซากอาคารมากถึง 50-60 ราย ซึ่งต่อมาหน่วยกู้ภัยใช้มือเปล่าขุดช่วยเหลือเหยื่อไว้ได้ 24 คน
ส่วนยอดผู้เสียชีวิต นายสุโตโป ปุรโว นูโกรโฮ โฆษกประจำสำนักงานบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ (บีเอ็นพีบี) เปิดเผยว่า เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 832 ราย เกือบทั้งหมดเสียชีวิตที่เมืองปาลู และเท่าที่ประเมินจาก 50 จุดของเมือง มีผู้อพยพแล้ว 10,000 คน แต่การเคลื่อนอุปกรณ์หนักเพื่อค้นหาเหยื่อใต้ซากปรักหักพังยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจาก ถนนส่วนใหญ่ที่มุ่งไปยังเมืองปาลูพังเสียหาย คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าส่วนใหญ่ยังติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง ที่ส่วนมากหน่วยกู้ภัยยังเข้าไปไม่ถึง และยังมีที่เตรียมร่วมงานปาร์ตี้ริมหาดเมืองปาลูที่ยังไม่ทราบชะตากรรมอีกหลายร้อยคน
...
เช่นเดียวกัน นายยูซุฟ คัลลา รองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย มองว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจถึงหลักพัน ตามข้อมูลพื้นฐานจากภัยพิบัติที่ประสบก่อนหน้า เพราะยังมีบริเวณรอบพื้นที่ชายฝั่งที่เจ้าหน้าที่ยังเข้าไปไม่ถึง รวมถึงเมืองด็องกาลา พื้นที่ใกล้จุด ศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากที่สุด กับเมืองมามูจู ที่มีประชากรอาศัยกว่า 300,000 คน แต่ยังติดต่อสื่อสารไม่ได้ ประกอบกับถนนหนทางเสียหาย ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า ขณะนี้ชาวบ้านบางส่วนเริ่มปล้นสะดมสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าที่พังเสียหายในเมืองปาลู ซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฝ้าดู โดยไม่ห่วงความปลอดภัยของตัวเอง เพราะยังเกิดอาฟเตอร์ช็อก หรือแผ่นดินไหวต่อเนื่องตามมาเป็นระยะ อีกทั้งโครงสร้างอาคารก็ไม่ปลอดภัย และมีชาวบ้านบางกลุ่มก็กลับเข้าไปที่บ้านเรือนของตัวเองที่พังยับเยิน เพื่อคุ้ยหาข้าวของที่ลอยน้ำ แต่ส่วนใหญ่ต้องไปหลับนอนข้างนอกอาคารเพราะหวั่นเหตุอาฟเตอร์ช็อก
ด้านพัศดีเรือนจำในเมืองปาลูเผยว่า มีนักโทษกว่าครึ่งจากจำนวน 560 คน ฉวยโอกาสที่กำแพงเรือนจำพังจากแรงแผ่นดินไหว หลบหนีออกไป ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ผู้คุมจะตามไล่จับ เพราะต่างหวาดผวาและต้องรักษาชีวิตตัวเองไว้ก่อน อีกทั้งขณะนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่มีแผนจะตามจับนักโทษที่หลบหนีไปด้วย เนื่องจากทุกหน่วยต้องระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยก่อน
วันเดียวกัน นายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการอินไซเดอร์ส ของทางสถานีโทรทัศน์เอบีซี ว่าทางรัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่ร้องขอความช่วยเหลือใดๆจากออสเตรเลีย แต่ตนได้ติดต่อกับประธานาธิบดี โจโก วิโดโด แห่ง อินโดนีเซีย เสนอให้ความช่วยเหลือพร้อมกล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง
ส่วนประเทศไทย พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวแสดงความเสียใจกับความสูญเสียของประชาชนชาวอินโดนีเซีย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในเมืองปาลู เกาะสุลาเวสี เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ พล.อ.ประวิตรได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมสนับสนุนและให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ โดยให้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งขอให้ใช้ช่องทางการทูตทหาร และศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดตั้ง ณ กรมแพทย์ทหารบก ประสาน เตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือทางการแพทย์เร่งด่วน ตามแผนที่เคยฝึกร่วมกันควบคู่กันไป
นอกจากนี้ เมื่อช่วงบ่าย สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ได้เผยแพร่ข่าวสถานการณ์แผ่นดินไหวเมืองปาลู เกาะสุลาเวสี ว่า 1.โฆษกหน่วยงานบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย (National Disaster Management Agency : BNPB) แจ้งยอดผู้เสียชีวิตจำนวน 420 ราย ผู้บาดเจ็บจำนวน 540 ราย และผู้ไร้ที่อยู่อาศัยจำนวน 17,000 ราย สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานติดต่อคนไทย 32 คน ในเมืองปาลู (Palu) อยู่เป็นระยะๆ ทราบว่า ทุกคนปลอดภัย 2.นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้ส่งสารแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและสั่งการให้ทางการอินโดนีเซียเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมีกำหนดลงพื้นที่เยือนเมืองปาลูและเมืองดองกาลา (Donggala) ในวันนี้ 3.อินโด– นีเซียได้ส่งเครื่องบินลำเลียงของทหาร แบบซี-130 จำนวน 3 ลำ จากเมืองมากัสซาร์ (Makassar) และมาลัง ไปเมืองปาลู เพื่อนำหน่วยทหารและทีมกู้ภัยลงพื้นที่ และจะใช้เครื่องบินนี้อพยพผู้บาดเจ็บ เด็ก และสตรีออกจากพื้นที่
4.สำนักงานผู้ช่วยทูตทหาร/อินโดนีเซียได้ประสานกับฝ่ายทหารอินโดนีเซียเพื่อขอโดยสารเครื่องบินทหาร ซี-130 เข้าไปในพื้นที่ และขออพยพคนไทยออกมา 5.สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มีหนังสือถึงทางการอินโดนีเซียขอให้อพยพคนไทย 32 คนออกมาในโอกาสแรก เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ไม่ปลอดภัย โดยได้แจ้งรายชื่อคนไทย 32 คน เพื่อขออพยพออกมาโดยเครื่องบินทหาร ซี-130 ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานรัฐมนตรีช่วยกระทรวงท่องเที่ยวอินโดนีเซียเพื่อขอให้ดำเนินการช่วยเหลือคนไทยโดยเร่งด่วนด้วยแล้ว ซึ่งได้ประสานแจ้งต่อไปยังรัฐมนตรีท่องเที่ยวอินโดนีเซียและทหารอากาศที่รับผิดชอบในพื้นที่ โดยคาดว่านักศึกษาและคนไทยจะเดินทางออกจากเมืองปาลู โดยเครื่องบินทหาร ซี-130 ได้ภายในบ่ายวันที่ 30 ก.ย.หรืออย่างช้าวันที่ 1 ต.ค. เนื่องจากท่าอากาศยานจะปิดทำการเวลา 18.00 น. (เวลามากัสซาร์) และ 6.สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประกาศขอให้นักศึกษาและคนไทยเดินทางไปรวมตัวที่ท่าอากาศยาน Mutiara Sis Al Jufri เมืองปาลู เพื่อรอขึ้นเครื่องบินทหาร ซี-130 แล้ว โดยเอกอัครราชทูตฯ เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต และผู้ช่วยทูตทหารประจำอินโดนีเซีย และ กสม.ประจำเดนปาซาร์ จะเดินทางถึงเมืองมากัสซาร์ ภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เพื่อประสานงานกับบริษัทซีพี เพื่อดำเนินการช่วยเหลือและดูแลคนไทยที่อพยพออกมาต่อไป
...
สำหรับสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “จ่ามี” ที่ขึ้นฝั่งเกาะโอกินา กับเกาะคิวชู ตอนใต้ของญี่ปุ่นทำให้มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 46 รายแต่ไม่มีรายงานความสูญเสีย ยกเว้นบ้านเรือนเกือบ 500,000 หลังไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ เพราะเสาไฟฟ้าหักโค่น ก่อนที่ไต้ฝุ่น “จ่ามี” เคลื่อนตัวไปทางตะวันออกขึ้นเกาะใหญ่ ใกล้เมืองโอซากา เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 30 ก.ย.ตามเวลาท้องถิ่น หรือราว 16.00 น. ตามเวลาไทย หลังพายุเคลื่อนเข้าเมืองคาโกชิมะ บนเกาะชิโกกุ มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 10 ราย และมีคำสั่งอพยพชาวบ้านหลายหมื่นคนออกจากหลายพื้นที่ด้วย
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ประกาศเตือนประชาชนอาจเกิดลมกระโชกแรง และฝนตกหนัก จนดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงฟ้าผ่าทั่วภูมิภาค ทำให้การรถไฟญี่ปุ่นตะวันออก (เจอาร์ อีสต์) ประกาศว่าจะทยอยหยุดให้บริการรถไฟ ทั้งในและรอบกรุงโตเกียว ไปจนครบทุกขบวน ราว 20.00 น. ในวันเดียวกัน ก่อนที่ไต้ฝุ่น “จ่ามี” จะเคลื่อนเข้าใกล้กรุงโตเกียว เช่นเดียวกับรถไฟหัวกระสุน “ชินกันเซน” โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตก ก็ลดหรือยกเลิกวิ่งให้บริการ ในสนามบินคันไซ เมืองโอซากา ที่มีการปิดรันเวย์ 2 เส้นทาง และเจ้าหน้าที่นำกระสอบทรายมาเป็นแนวกั้นเพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วม ทำให้หลายสายการบินต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินเข้าและออก รวมถึงการบินไทยที่ประกาศยกเลิกเที่ยวบิน “กรุงเทพฯ-โอซากา” ของวันที่ 29-30 ก.ย. ทั้งขาไปและกลับ คือ เที่ยวบินที่ทีจี 622/623 และ ทีจี 672/673 นอกจากนี้ มีรายงานด้วยว่า หลายสนามบินในญี่ปุ่น ทั้งสนามบินนาริตะ กับสนามบินฮาเนดะ ในกรุงโตเกียว ทยอย ประกาศยกเลิกเที่ยวบินแล้ว เนื่องจากพายุ “จ่ามี” จ่อเคลื่อนตัวขึ้นทางตอนเหนือในวันที่ 1 ต.ค.นี้
...