นายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ระบุ ข้อริเริ่ม“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”ทำให้ความสัมพันธ์จีน-ไทยสนิทแน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้น
“ เมื่อไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมเยียนจังหวัดขอนแก่น หนองคายและอุดรธานีที่อยู่ในภาคอีสานของไทย ข้าพเจ้าได้ร่วมพิธีเปิดโครงการอบรมเตรียมความพร้อมของนักเรียนอาชีวศึกษาของไทย ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน ณ สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้พบกับนักเรียน 40 กว่าคนที่มาจากโรงเรียนอาชีวศึกษา 15 แห่งทั่วประเทศไทย
พวกเขาเรียนภาษาจีนที่สถาบันขงจื่อ และยังจะไปเรียนโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่โรงเรียนอาชีวศึกษาในจีน ซึ่งในขณะนี้มีนักเรียนไทย 28 คน กำลังศึกษาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่วิทยาลัยเทคนิคอาชีวะการรถไฟเมืองหลิ่วโจว กว่างซี ประเทศจีน

ที่จังหวัดหนองคาย ข้าพเจ้าได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับข้าราชการ หอการค้าและสมาคมชาวไทยเชื้อสายจีนอย่างกว้างขวาง พวกเขาได้แนะนำภาวะเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดหนองคายและทุกคนหวังว่ารถไฟจีน-ลาวจะสร้างเสร็จสมบูรณ์โดยเร็วและขยายลงมาจนเชื่อมต่อประเทศไทย ทำให้จังหวัดหนองคายซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยอยู่แล้วนั้นแสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจของตนอย่างเต็มที่ และสามารถดึงดูดนักลงทุน นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
...
จากแววตาที่มีชีวิตชีวาและใฝ่หาความรู้ของนักเรียนหนุ่มสาว จากความคาดหวังของบุคคลจากวงการต่างๆในสังคม ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักดีว่า เราควรเร่งผลักดันความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางระหว่างจีน-ไทย ทำให้ประชาชนและภูมิภาคต่างๆได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น
นับแต่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงเสนอข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางขึ้นมาในฤดูใบไม้ร่วงปีค.ศ. 2013 เป็นต้นมา ผู้นำจีนและไทยได้พบปะหารือกันหลายครั้งและบรรลุความเข้าใจตรงกันในประเด็นเชื่อมโยง ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ดิจิทัลไทยแลนด์และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเข้าด้วยกัน เป็นต้น
ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ ( MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และบันทึกความเข้าใจ ( MOU)ว่าด้วยการสร้างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกตามลำดับ เพื่อนมิตรในสังคมไทยต่างสนใจและติดตามความคืบหน้าการสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง บางคนยังสามารถออกเสียงคำว่าหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นภาษาจีนอย่างชัดเจนด้วยซ้ำ

ใน 5 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผลสำเร็จในการร่วมสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางระหว่างจีน-ไทยอยู่มากมาย รถไฟจีน-ไทยในฐานะเป็นโครงการเรือธงของความร่วมมือระหว่างสองประเทศได้มีการก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคมปีค.ศ. 2017 นิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน(ระยอง)ได้ดึงดูดบริษัทจีนกว่า 110 บริษัทเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจ ได้นำเอายอดการลงทุนมากกว่า 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้ามาด้วย และเพิ่มการจ้างงานในท้องถิ่น 30,000 กว่าตำแหน่ง
หลายปีมานี้ บริษัทชั้นนำของจีน เช่น Huawei Alibaba JD.com เป็นต้น ต่างมีการเพิ่มลงทุนในประเทศไทย และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและดิจิทัลไทยแลนด์ ในขณะนี้มีนักเรียน นักศึกษาจีนในเมืองไทยมากกว่า 37,000 คน และมีนักเรียน นักศึกษาไทยในจีนกว่า 27,000 คน ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวจีนมาท่องเที่ยวไทยมากเกือบ 10 ล้านคน ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
จากผลงานของความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางระหว่างจีน-ไทย สิ่งที่พบเห็นคือเราสองประเทศมีการเชื่อมโยงกันทั้งในด้านนโยบาย โครงสร้างพื้นฐานการค้าการลงทุนและจิตใจของประชาชน สิ่งที่เราเห็นคือโครงการความร่วมมือในสาขาต่างๆ ได้รับความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และบุคคล ครอบครัว ผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากความร่วมมือดังกล่าว รวมทั้งความไว้วางใจและความเข้าใจระหว่างประชาชนสองประเทศที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
ในขณะเดียวกัน เราก็สังเกตเห็นว่าปัจจุบันนี้ ลัทธิอนุรักษ์นิยและลัทธิกระทำฝ่ายเดียวมีแนวโน้มจะมาแรงมากขึ้นในบางประเทศ ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อระบบการค้าพหุภาคี และก่อกวนความร่วมมือของเราทั้งสอง แต่แน่นอนแล้วหลายขั้วอำนาจและโลกาภิวัตน์ยังคงเป็นกระแสหลักโลก ซึ่งไม่อาจจะฝ่าฝืนได้
แนวความคิดของการเปิดกว้าง ยอมรับต่อกันและความร่วมมือแบบชัยชนะด้วยกันนั้นได้ฝังรากลึกลงในใจของผู้คน ข้าพเจ้าเชื่อว่าข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ยึดหลัก “ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปัน”ย่อมจะนำมาซึ่งโอกาสของความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยและผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั้งสองประเทศ จีนและไทยซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีสัมพันธไมตรีมาอย่างยาวนานย่อมจะสนิทแน่นแฟ้นมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป”
...