เราต่างรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกันแก้ไข มีการวิจัยมากมายที่บ่งชี้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือสาเหตุสำคัญที่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย และมีการเสนอหนทางแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างหลากหลาย

หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกนำเสนอขึ้นมาก็คือการลดกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น วัว แกะ สุกร สัตว์ปีก และสัตว์อื่นๆ เนื่องจากฟาร์มปศุสัตว์จะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน เพราะเวลาที่สัตว์เรอหรือขับถ่ายออกมาก็จะปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่บรรยากาศ ยิ่งฟาร์มขนาดใหญ่สัตว์มีจำนวนมากนับล้านตัว ก็เหมือนช่วยประสานและสะสมปริมาณก๊าซมีเทนให้เพิ่มมากขึ้นจนเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน

ล่าสุดมีความคืบหน้าถึงการแก้ปัญหาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในยุโรป ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์กรีนพีซ ต้องการให้อุตสาหกรรมการเกษตรของยุโรปลดการผลิตเนื้อสัตว์และนมลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ.2593 เพื่อช่วยปกป้องโลก หลังจากที่มีการวิจัยชี้ว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่เกินขอบเขตของความปลอดภัยสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้านกลุ่มไรซ์ (The Rural Investment Support for Europe-RISE) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มุ่งมั่นสนับสนุนเศรษฐกิจในชนบทยุโรปในแบบที่ยั่งยืน ก็ออกมาสนับสนุนการรณรงค์ของกลุ่มกรีนพีซและเน้นว่าข้อเสนอแนะให้ ลดการผลิตเนื้อสัตว์ยังอยู่ภายใต้กรอบของข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นการดำเนินงานเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นอกเหนือจากการช่วยลดภาวะโลกร้อน หลายคนก็มองว่าหากประชากรลดการกินเนื้อสัตว์ก็จะช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพได้เช่นกัน เนื่องจากมีข้อมูลเผยว่าชาวยุโรปกินเนื้อสัตว์มากกว่าปริมาณที่องค์การด้านอาหารแห่งชาติแนะนำถึง 2 เท่า

...

ทั้งนี้ แผนลดการผลิตเนื้อสัตว์และนมลงครึ่งหนึ่งในอีก 42 ปีข้างหน้า ก็สร้างความขุ่นเคืองต่อกลุ่มเกษตรกรพอดู พวกเขามองว่าแทนที่จะโทษภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียว ปัญหาโลกร้อนยังเกิดจากสาเหตุอื่นเช่นกัน อย่างภาคการขนส่งที่ยังมีการปล่อยมลพิษ แต่ตอนนี้ภาคการเกษตรกลับถูกโดดเดี่ยวและกลายเป็นแพะรับบาปไปแล้ว.

ภัค เศารยะ