หินแปลกปลอม (xenolith) Credit : Michael W. Broadley

โลกของเรามีปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสะพรึงไม่ใช่น้อย นั่นคือการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass Extinction) เมื่อเกิดขึ้นในยุคใดก็หมายถึงว่าสิ่งมีชีวิตนานาชนิดในยุคนั้นจะสูญสิ้นพันธุ์กันไปเกือบหมด ส่วนที่เหลือรอดก็เฉพาะพวกที่ปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลง ดังเช่น ไดโนเสาร์ขนาดยักษ์ที่หายไปจากโลกเมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว

แต่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของนักวิทยาศาสตร์มากที่สุด ก็คือเหตุการณ์สูญพันธุ์ปลายยุคเพอร์เมียน (End-Permian extinction) นับว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 250 ล้านปีก่อน จากการปะทุของภูเขาไฟใหญ่ในแถบไซบีเรียของรัสเซีย โดยส่งผลให้เกือบ 90% ของสิ่งมีชีวิตต้องม้วยมรณาอย่างมโหฬาร (Great Dying) นักธรณีวิทยาเรียกการปะทุนี้ว่าการไหลท่วมของลาวาหินบะซอลต์แห่งไซบีเรีย (Siberian Flood Basalts) และไหลแผ่ขยายไปเป็นเวลาเกือบล้านปี ซึ่งนักธรณีวิทยาจากศูนย์วิจัยทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับหินและธรณีเคมี เมืองวองเดิฟร์ แลส์ น็องซี ในฝรั่งเศส เผยว่า เหล่านักวิทยาศาสตร์มีความสงสัยตลอดมาว่าเหตุใดการไหลท่วมของลาวาหินบะซอลต์ครั้งนั้น จึงร้ายแรงกว่าการปะทุอื่นๆที่ใกล้เคียงกัน

จากการวิเคราะห์ตัวอย่างของหินแปลกปลอม (xenoliths) ที่อยู่ในชั้นธรณีภาค (Lithosphere) บริเวณชั้นเนื้อโลกส่วนบนกับชั้นเปลือกโลก พบว่าก่อนเกิดการไหลท่วมของลาวาหินบะซอลต์นั้น ธรณีภาคแถบไซบีเรียเต็มไปด้วยสารคลอรีน โบรมีน และไอโอดีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางเคมีจากกลุ่มฮาโลเจน (Halogen) และสารเหล่านี้ดูเหมือนจะหายไปหลังจากการปะทุของภูเขาไฟ นักธรณีวิทยาจึงคาดว่าแหล่งฮาโลเจนที่ถูกเก็บกักไว้ในชั้นหินที่ไซบีเรียได้กระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในช่วงการระเบิดของภูเขาไฟ สารกลุ่มนี้กลายเป็นตัวทำลายชั้นโอโซนได้อย่างทรงประสิทธิภาพจนเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง.

...