การทรุดตัวของเมืองที่อยู่ริมทะเลไม่ใช่เรื่องที่พูดกันเล่นๆ อีกต่อไปแล้วครับ เพราะมีสถานที่หลายแห่งที่ทีมงานเปิดฟ้าส่องโลกเคยไปเยือนเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว แต่ทุกวันนี้บ้านเรือนริมทะเล ตลาดสด ปั๊มน้ำมัน โบสถ์ ฯลฯ ไม่มีแล้วครับ ทรุดตัวและถูกน้ำท่วม ไปเยือนอีกครั้งหนึ่ง อาคารบ้านเรือนที่เราเคยใช้นั่งใช้นอนก็จมอยู่ใต้น้ำทะเลไปหมดแล้ว

ทุกวันนี้จึงมีการพูดถึงการย้ายเมืองใหญ่ริมทะเลหลายแห่ง เพราะการจะไปปรับปรุงเพื่อป้องกันน้ำท่วมทำได้ยาก และต้องใช้งบประมาณสูง บางครั้งมีเงินเพียงเดียวก็ทำไม่ได้ ต้องมีเทคโนโลยีการป้องกันน้ำท่วมขั้นสูงอย่างที่ทำสำเร็จกันมาแล้วในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

กรุงจาการ์ตาเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีคนอาศัยอยู่มากถึง 10 ล้านคน เป็นเมืองที่อยู่ติดกับทะเลชวา และมีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านเมืองถึง 13 สาย กรุงจาการ์ตาจึงถูกน้ำท่วมบ่อย และแต่ละครั้งเป็นน้ำท่วมที่เดาล่วงหน้าไม่ได้

ที่กรุงจาการ์ตาก็ไม่ได้มีโครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยแบบประเทศไทย การก่อสร้างคันกั้นน้ำเค็มพร้อมทั้งท่อบังคับน้ำก็ไม่ได้ทำกันอย่างจริงจัง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทรุดตัวของกรุงจาการ์ตาที่ศึกษาเรื่องนี้มาหลายปีที่สถาบันเทคโนโลยีบันดุงบอกว่า ภายใน ค.ศ.2050 ร้อยละ 95 ของพื้นที่ตอนเหนือของกรุงจาการ์ตาที่อยู่ติดกับทะเลชวาจะถูกน้ำท่วม ทุกวันนี้การทรุดตัวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางแห่งมากถึง 25 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของเมืองชายฝั่งทะเลทั่วโลก 2 เท่า โดยเฉลี่ยกรุงจาการ์ตาทรุดตัวลง 1-15 เซนติเมตรต่อปี ทำให้ตอนนี้ครึ่งหนึ่งของมหานครที่มีคนอยู่เกิน 10 ล้านคนแห่งนี้ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแล้ว

ชั้นล่างของอาคารแห่งหนึ่งที่อยู่ในกรุงจาการ์ตาถูกน้ำทะเลหนุนเข้ามาท่วมจนใช้ทำอะไรไม่ได้ เหลือแต่เพียงระเบียงชั้นสอง เจ้าของอาคารสถานที่ต่างๆตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก ผู้อ่านท่านลองนึกดูนะครับ อินโดนีเซียมีแผ่นดินไหวรุนแรงอยู่เป็นประจำ มีสึนามิ หากภัยธรรมชาติร้ายแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ของกรุงจาการ์ตา อะไรจะเกิดขึ้นกับคนมากกว่า 10 ล้านคนครับ

...

ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามบ้านพักริมทะเลทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตาให้ข้อมูลว่า พวกตนเห็นร่องรอยการทรุดตัวของบ้านทุก 6 เดือน มีรอยแตกที่เสาและกำแพงอย่างต่อเนื่อง เจ้าของบ้านก็ทำได้แต่เพียงซ่อมบ้านไปเรื่อยๆ บางแห่งก็ต้องทำเป็นเขื่อนกั้นน้ำทะเล มองจากบ้านออกไป แต่เดิมเจอทะเล วันนี้ก็เจอแต่เขื่อนกั้นน้ำทะเลแทน

กฎหมายเรื่องการห้ามสูบน้ำบาดาลของอินโดนีเซียก็มีโทษไม่รุนแรง เกือบทุกคนต้องใช้น้ำบาดาล ทำให้การทรุดตัวของแผ่นดินเกิดได้เร็วขึ้น รัฐบาลจะใช้กฎหมายเคร่งครัดมากก็ไม่ได้ เพราะจัดหาน้ำประปาให้ประชาชนได้เพียงร้อยละ 40 ของความต้องการทั้งหมด ใครจะนึกครับว่ารัฐบาลท้องถิ่นกรุงจาการ์ตาไปสุ่มตรวจอาคาร 56 แห่ง ปรากฏว่า 33 แห่งสูบน้ำบาดาลอย่างผิดกฎหมาย

รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังทุ่มเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างกำแพงกั้นน้ำที่มีชื่อว่าเกรท การูดา ยาว 32 กิโลเมตร เพื่อกั้นน้ำรอบอ่าวจาการ์ตา และต้องสร้างเกาะเทียมขึ้นอีก 17 แห่ง เพื่อบรรเทาการทรุดตัวของกรุงจาการ์ตา

ผมว่าเงินจำนวนมหาศาลที่จะทุ่มสร้างเขื่อน ไม่น่าจะคุ้มค่าสมราคา สิ่งที่น่าทำก็คือ ทำกรุงจาการ์ตาให้เล็กลง ทำเมืองให้หลวมขึ้น ใช้เงินจำนวนนี้ไปสร้างเมืองหลวงใหม่ โดยทำโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ดี ก็น่าจะแก้ไขปัญหาได้

วิสัยทัศน์การย้ายเมืองหลวงริมทะเลให้ไปอยู่ในที่สูงขึ้น เป็นเรื่องจำเป็นครับ ส่วนเมืองหลวงเดิม หลังจากทำให้เล็กลงและหลวมมากขึ้นแล้ว ก็เก็บไว้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ เป็นเมืองท่องเที่ยว อย่าเสียดายอดีตเลยครับ ทุกอย่างมีเกิด ตั้งอยู่ และดับไป เช่นเดียวกับเมืองหลวง

ฝากพิจารณาเมืองหลวงที่ตั้งอยู่ริมทะเลที่ชื่อ กรุงเทพมหานครด้วยครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com