ในอดีตนั้นดาวอังคารหรือดาวเคราะห์สีแดง เพื่อนบ้านในระบบสุริยะของเรา มีอากาศอบอุ่นและเปียกชื้นเนื่องจากมีแหล่งน้ำสำคัญซึ่งปรากฏหลักฐานต่อมาคือทะเลสาบแห้งแล้งและพื้นผิวหุบเขาที่มีร่องรอยของทางน้ำ นอกจากนี้ ยังพบปรากฏการณ์บางอย่างเกี่ยวกับน้ำที่มีสถานะเป็นของเหลว หรือเบาะแสต่างๆนานาบนเนินของดาวอังคารผ่านงานวิจัยหลายชิ้น
แต่เมื่อเร็วๆนี้นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์จากองค์การอวกาศในอิตาลี ได้ศึกษาข้อมูลที่เก็บรวบรวมตั้งแต่เดือน พ.ค.2555 จนถึง ธ.ค.2558 จากการใช้เครื่องส่งสัญญาณเรดาร์มาร์ซิส (MARSIS) ที่ติดตั้งบนยานอวกาศมาร์ส เอกซ์เพรส (Mars Express) ขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งสัญญาณเรดาร์ได้ทะลวงฝ่าชั้นน้ำแข็งลงไปใต้ผิวดาวอังคาร จนกระทั่งพบทะเลสาบขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของดาว อยู่ลึกลงไป 1,550 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่เป็นทรงสามเหลี่ยมที่มีมุมโค้งมน
นักวิทยาศาสตร์เผยว่า มีความเป็นไปได้ว่าแหล่งน้ำโบราณแห่งนี้อาจเอื้อต่อการอาศัยของสิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ และยังพบว่าทะเลสาบดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับทะเลสาบใต้แผ่นน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์บนโลกของเรา ในทะเลสาบบนดาวอังคารมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งปกติและมีการรักษาความเค็มของเกลือสูง ดังนั้น การที่จะมีสิ่งมีชีวิตชนิดใดมีพัฒนาการมายาวนานบนดาวอังคารและอยู่รอดจนมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งตอนนี้แม้จะยังไม่พบสิ่งมีชีวิต แต่ก็นับเป็นความท้าทายต่อการค้นหาคำตอบอย่างยิ่ง.