นายกรัฐมนตรีจีนต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ลดราคายาต้านมะเร็งและเพิ่มการเข้าถึงยา หลังภาพยนตร์เรื่องหนึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นวงกว้าง...

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า ภาพยนตร์เรื่อง ‘Dying To Survive’ แนวดราม่าคอเมดี ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเจ้าของร้านขายของคนหนึ่งที่นำเข้ายาต้านมะเร็งราคาถูกที่ประเทศจีนสั่งแบบจากประเทศอินเดียเข้ามาขายเพื่อทำกำไร โดยมีอุตสาหกรรมยาเป็นตัวร้าย กำลังทำรายได้ถล่มทลายและสร้างแรงสั่นสะเทือนให้คนใหญ่คนโตของประเทศต้องออกมาเคลื่อนไหวเรื่องยาต้านโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ โรคมะเร็งเป็นตัวการอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตผู้คนในจีน โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตเพราะโรคนี้เกือบ 3 ล้านคน เพราะถึงแม้ว่าจีนจะมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม แต่สถานพยาบาล และมาตรฐานการรักษากลับถูกแพร่กระจายออกไปอย่างไม่เสมอภาคกัน พื้นที่เขตใจกลางเมืองมักได้รับบริการที่ดีกว่าแถบชนบท และทุกคนต้องจ่ายบางสิ่งบางอย่างไปก่อนที่จะได้รับการรักษา ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ Dying To Survive เข้าถึงคนดูชาวจีน

นาย เกา เว่ย ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมของศูนย์เพื่อการโลกาภิวัตน์จีน ระบุว่า ภาพยนตร์ต้นทุนต่ำเรื่องนี้โจมตีแผลทางสังคม เรื่องการไม่สามารถรับการรักษาจากโรงพยาบาลได้ “ในฐานะภาพยนตร์ที่วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ หนังเรื่องนี้ได้รับความนิยมก็เพราะมันผ่านการเซนเซอร์ของทางการจีนมาได้แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ในระดับนี้”

หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน
หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน

...

รัฐบาลจีนยอมรับตั้งแต่ก่อนภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายแล้วว่า พวกเขาจำเป็นต้องพัฒนาเรื่องการเข้าถึงยาและราคายา และเมื่อเดือนพ.ค. รัฐบาลจีนก็มีคำสั่งยกเลิกภาษีนำเข้ายาต้านมะเร็งทั้งหมด แต่ล่าสุดกระแสของ Dying To Survive ทำให้นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ต้องออกมาเรียกร้องให้มีการลดราคาและเพิ่มการเข้าถึงการต้านมะเร็งให้มากยิ่งขึ้น และให้คำมั่นอีกครั้งว่าจะพัฒนาการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่มขึ้นปีละมากกว่า 4 ล้านคน

อนึ่ง Dying To Survive ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของ หลู่ หยง นักลักลอบขนยาต้านมะเร็งผิดกฎหมาย ที่ถูกทางการจีนจับกุมเมื่อ 5 ปีก่อน โดยล่าสุดภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ไปแล้วถึง 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.29 หมื่นล้านบาท) หลังเข้าฉายเพียง 2 สัปดาห์