ปัจจุบันหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดว่ามนุษย์เดินทางออกจากทวีปแอฟริกาคือสิ่งประดิษฐ์และกะโหลกศีรษะอายุเก่าแก่ประมาณ 1,800,000 ปีที่พบในเมืองมานิซี (Dmanisi) แห่งประเทศจอร์เจีย แต่การค้นพบใหม่ล่าสุดของนักโบราณคดีจากสถาบันธรณีเคมีแห่งเมืองกวางโจวในประเทศจีน ได้ผลักดันความคิดใหม่ว่าจริงๆแล้วผู้บุกเบิกทางวิวัฒนาการอย่างมนุษย์ได้เดินทางออกจากแอฟริกาเร็วกว่าที่เคยคิดไว้
นักโบราณคดีชาวจีนเผยว่า ชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหินแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือเครื่องมือหิน รวมถึงสิ่งประดิษฐ์โบราณ 96 ชิ้น ถูกขุดขึ้นมาจากพื้นที่บริเวณที่ราบสูงดินเหลือง (Loess Plateau) อยู่ทางตอนเหนือของเทือกเขาฉินหลิง (Qinling) ซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ของจีน ได้รับการระบุว่าบางชิ้นมีอายุราว 2,100,000 ปี นอกจากนี้ยังพบว่ามีซากกระดูกหมูและกวาง แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์อย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีบางคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการขุดค้นวิจัยก็มีข้อท้วงติงว่าบางครั้งธรรมชาติก็สามารถแปรเปลี่ยนรูปร่างของหินจนทำให้ดูราวกับว่ามนุษย์โบราณสร้างเครื่องมือหินนี้ด้วยตนเอง ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างก็รู้ว่าหินในลำธารสามารถลับความคมได้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มกลับมองว่าแหล่งโบราณคดีในจีนแห่งนี้อาจกำลังกลายเป็นสถานที่สำคัญที่สุดในโลกไปแล้ว.