เสาร์ที่ผ่านมา กลุ่มเพื่อนไลน์แอทไอดี @ntp5 จำนวน 40 คน ได้ไปฟังคำบรรยายของสมาคมนักธุรกิจหนุ่มแขวงเวียงจันทน์ ที่นำโดยนายฮมพัน พมมะจัก นายกสมาคมฯ และสมาชิกสภาแขวงเวียงจันทน์ รวมทั้งนางคำมุย ไซยะสุก หัวหน้าแขนงส่งเสริมการลงทุน (แผนกแผนการและการลงทุนแขวงเวียงจันทน์)
จากการฟังท่านทั้งหลายพูด ทำให้ทราบว่าแขวงเวียงจันทน์เร่งสนับสนุนการลงทุนด้านการเกษตรเพื่อสร้างผลผลิตรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนแขวงเวียงจันทน์ เจ้าเมืองหรือนายอำเภอมีสิทธิให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดินเพื่อทำกิจการด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตรไม่เกิน 3 เฮกตาร์ ส่วนเจ้าแขวงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติให้เช่าที่ดินได้ไม่เกิน 150 เฮกตาร์เป็นเวลานาน 30–50 ปีแล้วแต่ประเภทของโครงการ
หลังจาก พ.ศ.2564 เมื่อทางรถไฟความเร็วสูงและมอเตอร์เวย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มีการทำนายทายทักกันว่า นักท่องเที่ยวจากจีนจะนั่งรถไฟทะลักลงมาที่แขวงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นปลายทางของทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้
ก่อนหน้านี้ 2 สัปดาห์ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัยและคณะ เดินทางไปสำรวจพื้นที่ในเมืองหินเหิบ เมืองวังเวียง และเมืองโพนฮม ก่อนหน้านั้น 1 ปีก็ได้ไปสำรวจที่เมืองกาสี ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแขวงเวียงจันทน์ พบว่าเป็นพื้นที่ที่ปลูกผลไม้ได้ดี โดยเฉพาะเป็นดินลักษณะเดียวกันกับที่จังหวัดศรีสะเกษและอำเภอน้ำยืนของจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งปลูกทุเรียนได้อร่อย
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่คนจีนชอบ ในแต่ละปี คนจีนจำนวนมากบินไปร่วมเทศกาลทุเรียนที่สิงคโปร์ เดินทางไปกินทุเรียนที่มาเลเซีย และซื้อทุเรียนจากไทยไปเป็นจำนวนนับแสนตัน คนจีนทานทุเรียนทุกพันธุ์ครับ ไม่ว่าจะเป็นหมอนทอง ก้านยาว ทองย้อยฉัตร กบแม่เฒ่า ชะนี กระดุม ฯลฯ แต่การขนส่งทุเรียนจากไทยไปจีนเป็นเรื่องยุ่งยากในระดับหนึ่งเพราะขนส่งทางบกก็ไกลและผ่านหลายประเทศ ไปทางเรือก็ใช้เวลานาน หรือทางอากาศก็แพงเกินไป
...
พื้นที่ในแขวงเวียงจันทน์และในอีกหลายแขวงของลาวมีอากาศร้อน มีความชื้นในอากาศสูง ฝนตกชุกประมาณ 2,000 มิลลิเมตรต่อปีสม่ำเสมอ ไม่มีฤดูแล้งยาวนาน ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนซุยน้ำก็พร้อม จึงเหมาะสมที่จะปลูกทุเรียน และทีมงานได้เข้าไปสำรวจ พบว่ามีสวนทุเรียนที่ปลูกอยู่แล้วให้ผลดีอยู่หลายแห่ง รวมทั้งสวนเงาะ มังคุด และผลไม้ประเภทอื่น ต่อไปในอนาคต ลาวนี่ล่ะครับจะเป็นแหล่งผลิตผลไม้คุณภาพดีป้อนตลาดจีน การขนส่งก็สะดวกเพราะลาวกับจีนมีพรมแดนประชิดติดกัน แถมยังมีรถไฟความเร็วสูงที่ขนคนและสิ่งของได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
เดือนที่แล้ว ผมพา ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐมาเยือน 2 มณฑลของจีน เราพบมะพร้าวน้ำหอมที่ขายในจีนลูกละ 15 หยวน หรือ 75 บาท แต่พอซื้อแล้วก็แทบทานไม่ได้ เพราะเนื้อบาง น้ำก็ไม่อร่อย รสชาติและคุณภาพยังห่างไกลจากมะพร้าวที่ปลูกในไทย มีการศึกษาแล้วพบว่า ในหลายพื้นที่ของลาว สามารถปลูกมะพร้าวทั้งมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวแกงได้คุณภาพเท่าไทย ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าวกะโหลก มะพร้าวใหญ่ มะพร้าวกลาง มะพร้าวปากจก แม้แต่มะพร้าวต้นเตี้ยพวกนกคุ่ม หมูสีเขียว หรือนาฬิเก สามารถปลูกได้ทั้งหมด นี่เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ผมคิดว่าต่อไปในอนาคต ลาวอาจจะเป็นพื้นที่ผลิตมะพร้าวให้กับจีน
งานเลี้ยงที่สำนักงาน Thailand Buyer Service Center เมื่อเดือนที่แล้วที่เมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียงของจีน เราเห็นคนรุ่นใหม่ของจีนไม่ดื่มเหล้า แต่ดื่มกะทิ แม้แต่ในประเทศไทยเอง คนไทยก็แปลกใจที่เห็นนักท่องเที่ยวจีนเดินดูดน้ำกะทิกล่อง ผมจึงคิดว่า มะพร้าวน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ปลูกแล้วให้ผลตอบแทนคุ้มค่าในพื้นที่ สปป.ลาว
เอาเรื่องนี้มาเขียน เพราะปีที่ผ่านมา ทุเรียนราคาแพงด้วยการบริโภคของคนจีน จึงมีการโค่นต้นผลไม้อื่นและหันมาปลูกทุเรียนกันมาก อยากจะให้ระวังเรื่องผลผลิตล้นจนราคาถูกเอาไว้ด้วย เพราะขณะนี้ที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นก็หันมาปลูกผลไม้ประเภทเดียวกับเรา แต่ระยะทางส่งไปจีนใกล้กว่าและระบบการขนส่งที่ทันสมัยกว่า ได้เปรียบเรามากกว่าครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com