ภัยพิบัติกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก มนุษย์คิดเทคโนโลยีต่างๆได้มากมายแต่ไม่สามารถป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ ขณะนี้ผมอยู่ใน สปป.ลาว ได้รับทราบข่าวจากครอบครัวที่เมืองจีนว่าแม่น้ำ 241 สาย ใน 24 มณฑลทั่วสาธารณรัฐมีระดับน้ำสูงขึ้นจนเอ่อฝั่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่และเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นแสนล้านบาท ที่แรงจริงๆก็เป็นเรื่องน้ำท่วมและดินถล่มในมณฑลเสฉวน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
ภัยพิบัติไม่ใช่แค่น้ำท่วม แผ่นดินไหว ดินถล่ม เพียงเท่านั้นนะครับ สภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นเป็นเวลาติดต่อกันหลายเดือนหรือหลายปีนี่ก็ถือว่าเป็นภัยพิบัติด้วย เพราะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและการเกษตร
วิชาหนึ่งซึ่งกำลังมีบทบาทอย่างมากคือ Emergency Management หรือ Disaster Management เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการ และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เพื่อจะสร้างบุคคลผู้ซึ่งได้รับการฝึกฝนอบรมเพื่อปฏิบัติการตอบโต้สภาวะฉุกเฉินเป็นหน่วยแรก เราเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า EROs หรือ Emergency Response Officers กลุ่มนี้นี่ล่ะครับ ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจที่จะไปตามหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาทำงาน
อย่างกรณีการกู้ภัยหมูป่า 13 ชีวิต เราต้องถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ERO โดยธรรมชาติ จึงได้ประสานงานกับหน่วยต่างๆ ให้เข้ามาปฏิบัติการได้อย่างราบรื่น อำนวยความสะดวกในการเข้าพื้นที่ได้อย่างดี สามารถบรรยายสรุปให้กับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ แต่ถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นที่สถานที่อื่น เราก็ไม่ทราบว่า การช่วยชีวิต 13 หมูป่าจะราบรื่นอย่างนี้หรือไม่ เรื่องของระบบการบัญชาการเหตุการณ์ ICS หรือ Incident Command System ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องได้รับการออกแบบและนำไปประยุกต์ใช้ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์จนถึงช่วงเวลาที่ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบนี้อีกต่อไป
...
แม้แต่ความมั่นคงด้านอาหารก็เป็นหนึ่งในการจัดการภัยพิบัติ เพราะเมื่อใดก็ตามประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารก็จะประสบความหิวโหยและภาวะอดอยาก ในขณะที่โลกถูกรุมล้อมด้วยปัญหาการหมดสิ้นไปของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ถ้าไม่มีการจัดการที่ดี ในอนาคตก็อาจจะเผชิญกับภัยพิบัติเรื่องความมั่นคงด้านอาหารได้เช่นกัน
เราเคยเจอภัยพิบัติโรคระบาด ผู้อ่านท่านยังคงจำได้ถึงสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A หรือ H5N1 ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บป่วยในมนุษย์และสัตว์ที่เราเรียกกันว่า ไข้หวัดนก ที่กระจายหนักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื้อโรคที่จะก่อให้เกิดความเจ็บป่วยในมนุษย์และสัตว์หลายประเภทไม่หมดไปจากโลก ต่อไปในอนาคต เมื่อภัยพิบัติจากโรคระบาดเกิดขึ้นมาอีก ผู้ดูแลรักษาก็จะต้องเป็นคนจากกระทรวงสาธารณสุข แต่คนที่จะจัดการกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นก็ควรจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวง
เมื่อไม่กี่ปีก่อนที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น มีการปนเปื้อนจากรังสีในอากาศที่เกิดจากระบบการควบคุมนิวเคลียร์ผิดพลาด อนุภาคฝุ่นกัมมันตรังสีที่ลอยอยู่ในอากาศกระจายและแผ่รังสีครอบคลุมเป็นพื้นที่กว้าง ทำให้คนบาดเจ็บล้มตายและส่งผลระยะยาวต่อคนรุ่นต่อไปที่จะถูกฝุ่นกัมมันตรังสีปนเปื้อน โชคดีที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระเบียบวินัยและให้ความสำคัญกับการจัดการภัยพิบัติเป็นอย่างมาก เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงจึงแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างที่เรียนไปเมื่อวันก่อนว่า เราควรจะต้องตั้งกระทรวงที่จัดการภัยพิบัติเป็นการเฉพาะ เพราะทุกวันนี้ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นแค่กรมอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการจำนวนหนึ่งเข้ามาอยู่เพียงระยะสั้นๆแล้วก็ออกไป ความรู้ ความชำนาญทางด้านการจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรมจึงไม่มีมากพอ มีการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศแล้วก็อยู่ได้พักเดียวก็ย้ายไปอยู่กรมอื่น การประสานงานจึงอาจจะแหว่งเป็นห้วงๆ การทุ่มทุนลงไปเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ทางด้านนี้ ทุ่มลงไปแล้ว ต่อมาก็อาจจะไม่ได้เอาไปใช้ เหมือนกับข้าราชการใกล้เกษียณไปดูงาน คือรัฐเสียเงินให้ไปดูงาน แต่ดูแล้วก็สูญเปล่า.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com