ตั้งแต่วันเสาร์ 14 กรกฎาคม 2561 ผมร่วมทีมกับเพื่อนไลน์แอทไอดี @ntp5 เข้ามาสำรวจโอกาสการค้าการลงทุนใน สปป.ลาว หลังจากที่ทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนจะเสร็จใน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มอเตอร์เวย์สายวังเวียง-เวียงจันทน์จะเปิดใช้ด้วย มีข้อมูลเพิ่มเติมที่เก็บมาฝากผู้อ่านท่านที่เคารพเกี่ยวกับเรื่องแนวโน้มของสินค้าเกษตรทดแทนและเรื่องความล่าช้าในการขนส่งสินค้าเกษตรไปประเทศเพื่อนบ้าน

เป็นเวลา 2 ปีที่ผมมาสำรวจตลาดพริก หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ มะนาว ฯลฯ ใน สปป.ลาว ทำให้ได้ข้อมูลที่ซ่อนอยู่ในการค้าตามลุ่มน้ำโขงไทย-ลาว เราเคยเข้าใจว่าคนลาวกินพริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูไร่ พริกกะเหรี่ยง พริกชี้ฟ้า ฯลฯ แต่แท้ที่จริงในลาวบริโภคพริกเหล่านี้น้อยมาก ที่นำเข้าประเทศเดือนละ 6-7 ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้ละ 13 ตัน เป็นพริกแห้งมาจากอินเดีย ที่ผ่านการคัดเลือกคุณภาพการทำความสะอาด การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ การลวกในน้ำร้อน การอบหรือตากแดดจนแห้งสนิท ซึ่งในตลาดลาวขายพริกแห้งจากอินเดียกิโลกรัมละ 60-70 บาท

พริกแห้งอินเดียเหล่านี้ถูกส่งมาจากท่าเรือเชนไน มาขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง และส่งทางรถยนต์มาที่ลาว เมื่อก่อนนำเข้าลำบาก เพราะภาษีแพง แต่หลังจากที่อินเดียเข้ามาเป็นสมาชิกอาร์เซ็พหรือ RCEP ที่ผมเขียนรับใช้ไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อินเดียก็มี FTA กับกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ มีกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ครอบคลุมรายการสินค้ามากกว่าร้อยละ 70-80 ดังนั้น พริกแห้งจากอินเดียที่แต่เดิมเคยเข้าลาวเสียภาษีร้อยละ 35 ตอนนี้สามารถใช้ฟอร์ม A-I เหลือเพียงร้อยละ 5 คนลาวก็บริโภคพริกแห้งอินเดียจนติดรสชาติและไม่หันไปทานพริกจากที่อื่นอีกเลย

จังหวัดศรีสะเกษมีการปลูกหอมแดงที่เรียกว่า shallot ซึ่งเป็นหอมที่มี 2 กลีบ หรือ 2 ใจ เมื่อก่อน คนลาวก็รับประทานหอมแดงจากศรีสะเกษ แต่เดี๋ยวนี้ผู้อ่านท่านที่เคารพไปดูเถิดครับ ในตลาดลาว บ้านเรือนและร้านอาหารของคนลาวทานหอมแขกซึ่งเป็นประเภท onion เป็นหอมที่มีกลีบเดียว หรือใจเดียว ซึ่งสะดวกต่อการปรุงอาหาร เพราะหั่นได้สะดวก รวดเร็ว ทั้งๆที่รสชาติสู้หอมแดงประเภท shallot จากศรีสะเกษไม่ได้ ทานไปบ่อยๆ ทั้งคนลาวก็ติดรสชาติหอมแขกซึ่งปลูกอยู่ในอินเดีย

...

แนวโน้มการบริโภครสชาติอาหารที่เปลี่ยนไป ใครจะนึกว่า บางครั้งก็มาจากความไม่ขยันของหน่วยงานรัฐบางประเทศ ที่ไม่ได้ส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างจริงจัง สมัยก่อน สินค้าเกษตรอย่างนี้ถูกนำข้ามไปฝั่งไทยถึงฝั่งลาวโดยคนลาวที่ข้ามมารับจ้างทำนา ทำไร่เป็นรายวัน เช้ามาเย็นกลับ ได้ค่าจ้าง 300 บาท 500 บาท ก็ซื้อสินค้าไทยไปขายให้ร้านค้าลาว ทำกำไรเล็กๆ น้อยๆ สินค้าไทยจึงเข้าไปกระจายอยู่ตามชุมชนของลาว

เดี๋ยวนี้การค้าขายลักษณะอย่างนี้ไม่ค่อยมีแล้ว ส่วนมากสินค้าส่งไปเป็นลอตใหญ่ๆ ผ่านช่องทางสะพาน ซึ่งเป็นเรื่องของนายทุนที่ต้องการกำไรครั้งละมากๆ ก็ไปวิ่งหาแหล่งผลิตที่ถูกที่สุดอย่างเช่นที่อินเดีย ทานบ่อยๆเข้าก็ติดรสชาติ

อนาคตหลังจากที่คนจีนเข้ามาทำการเกษตรในลาวได้เพิ่มขึ้นแล้ว สินค้าเกษตรไทยก็คงเข้าลาวได้น้อยลง จุดผ่อนปรนที่เคยให้สินค้าเกษตรข้ามไปได้สัปดาห์ละ 6 วัน ตอนนี้ถูกลดเวลาลงเหลือ 3 วันต่อสัปดาห์ เช่น มะเขือเทศจากอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่แต่เดิมคนลาวชอบรับประทาน ตอนนี้มะเขือเทศไปรอข้ามแม่น้ำโขงไม่ไหวก็ต้องไปนำมะเขือเทศจากเพื่อนบ้านประเทศอื่นมาทดแทน ทานไปนานๆก็ติดรสชาติใหม่

เรื่องนี้ผมว่าอันตรายครับ นโยบายของบางประเทศที่จะบีบให้รถบรรทุกจากลาววิ่งเข้ามาที่ตลาดไทหรือตลาดเมืองทองที่อุดรธานีเพื่อขนสินค้าเกษตรนั้น มันทำให้ต้นทุนของการขนส่งสูงขึ้น จากค่าส่วยบ้างอะไรบ้าง คันละพันสองพัน ทำให้สินค้าเกษตรแพงขึ้น

นอกจากปลูกกันเยอะแล้ว บางทีก็มาจากสาเหตุอย่างนี้ล่ะครับ ที่ทำให้สินค้าเกษตรไทยล้นตลาด เพราะระบายไปยังตลาดเดิมของเราไม่ได้.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com