ก็เพราะตลาดแรงงานภายในประเทศญี่ปุ่นขาดบุคลากรอย่างหนัก ทั้งสายการผลิต สายการให้บริการ โดยเฉพาะตามโรงแรม เกษตรกรรม และงานก่อสร้าง ทั้งที่ต้องเตรียมรับมือการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพในอีก 2 ปีข้างหน้า
และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เห็นได้ว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวทุกสาขาอาชีพในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 1.28 ล้านคน หรือราว 1% ของประชากรทั้งเกาะ ถือว่ามากกว่าปี 2551 จาก 486,000 คน ถึงสองเท่าตัวเศษๆ
ทำให้ภาครัฐเริ่มตรองแล้วว่าจะหาทางผ่อนปรน นโยบายคนเข้าเมืองใน 5 สาขาหลักอาชีพ ได้แก่ เกษตรกรรม สิ่งก่อสร้าง โรงแรม ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย และสร้างเรือ จากแต่ก่อนอนุญาตตลาดแรงงานที่เรียกว่า “ตลาดแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ”
แต่อีกทางหนึ่งก็ต้องระมัดระวังกับความ รู้สึกของประชาชน เพราะการเข้าเมืองมาอาศัยทำมาหากินถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แม้ทัศนคติของคนทั่วไปเริ่มเพลาลงตามยุคสมัย แต่ก็ยังมีหลายเสียงห่วงเรื่องการไหลบ่าของแรงงานต่างด้าวที่อาจทำให้ ระเบียบสังคมยุ่งเหยิง เพิ่มการแข่งขันและประเพณีเหลาะแหละลง
ยิ่งมีพ็อกเกตบุ๊กขายดีเมื่อปีกลาย เรื่อง “Chronology of the Future” ของมาซาชิ คาวาอิ นักข่าวจาก นสพ.แนวอนุรักษ์ ที่เขียนในทำนองว่า “การยอมรับแรงงานเข้าเมืองมากมายในยุโรปสร้างความวุ่นวายโกลาหล อย่างเหตุโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย การจลาจล การเคลื่อนไหวต่อต้าน และจะทำให้สังคมเกิดการแบ่งแยกด้วย”
แต่ตามต่างจังหวัด ซึ่งมีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ เกษตรกรรมต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเพื่อความอยู่รอด เช่น นายโชอูจิ ซาวาอูระ บอกว่า เขาจ้างคนท้องถิ่นให้มาทำธุรกิจฟาร์ม “กรีนลีฟ” ของตัวเองที่ จ.กุนมะ ไม่ไหว จึงอาศัยแรงงานจากเมืองไทยและเวียดนาม 24 คน
...
หรือ นายชินิชิโร ทสุกาดะ เจ้าของโรงงานพลาสติกในกรุงโตเกียว ที่บอกว่า ธุรกิจตัวเองอาจไม่รอด ถ้าไม่ได้แรงงานชาวจีนกับชาวเวียดนาม 22 ชีวิต ที่ช่วยเซฟค่าแรงไปได้ครึ่งหนึ่ง “พวกเขาคือทรัพย์สมบัติที่มีค่าอย่างแท้จริง”
ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องใคร่ครวญให้จงหนักระหว่าง “สังคม” กับ “เศรษฐกิจ” ที่ต้องหลอมรวมและอยู่ร่วมเคียงคู่กันได้อย่างที่ไม่รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ...
ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ