การกัดกร่อนชายฝั่งและการละลายของชั้นดินเยือกแข็งคงตัวในศตวรรษที่ 19.
เคยมีการสันนิษฐานจากนักวิทยาศาสตร์ว่าสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่ห่างไกลยากต่อการเข้าถึงจะปกป้องคุ้มครองแหล่งโบราณคดีที่ถือเป็นขุมทรัพย์ในการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ได้เพียงพอ อย่างแหล่งโบราณคดีในทวีปอาร์กติก ที่ความหนาวเย็นได้เก็บรักษาซากดึกดำบรรพ์มนุษย์และสัตว์ รวมถึงสิ่งประดิษฐ์โบราณในสภาพที่เกือบสมบูรณ์
แต่เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานในวารสารประวัติศาสตร์โบราณ (Journal Antiquity) จากนักวิจัยนานาชาติ เผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เคยคิดไว้ หลังจากพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลให้อุณหภูมิแถบอาร์กติกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 2 เท่า โดยเฉพาะทางตอนกลาง คาดว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) เกิดการละลายและชายฝั่งถูกกัดกร่อน ซึ่งประเมินว่าแหล่งโบราณคดีอย่างน้อย 180,000 แห่งในทวีปอาร์กติกที่ครอบคลุมอาณาบริเวณกว่า 12 ล้านตารางกิโลเมตรในแคนาดา รัสเซีย รัฐอลาสกาของสหรัฐอเมริกา และกรีนแลนด์ กำลังมีความเสี่ยงอย่างมากและอาจจมหายไปในเวลาที่รวดเร็วเกินกว่านักวิทยาศาสตร์จะจัดทำเอกสารข้อมูลได้ทัน
หากพื้นที่ดังกล่าวพังทลายลง นั่นไม่ใช่แค่การสูญสิ้นทรัพยากรอันทรงคุณค่า แต่ยังสูญเสียมรดกของมนุษยชาติและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่สามารถเรียกคืนกลับมา ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านชาวเอสกิโมบนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแมคเคนซี ซึ่งเป็นถิ่นฐานแห่งแรกของชาวยุโรป ที่แห่งนี้เป็นตัวอย่างของมรดกทางประวัติศาสตร์ที่หายไปตลอดกาล.