Credit : The Zoological Society of London

เมื่อเร็วๆนี้สมาคมสัตววิทยาแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เผยการค้นพบซากโครงกระดูกชะนีในสุสานโบราณอายุ 2,300 ปี ในมณฑลซานซี ภาคกลางของจีน สันนิษฐานว่าสุสานแห่งนี้อาจเป็นที่ฝังศพท่านผู้หญิงเซี่ย พระอัยยิกาหรือยายของจักรพรรดิจิ๋นซี ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ฉิน ผู้สั่งให้สร้างกำแพงเมืองจีนและกองทัพทหารดินเผา สุสานถูกขุดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2547 พบหลุมฝังศพ 12 หลุมมีซากสัตว์ซึ่งรวมถึงกระดูกชะนีถูกฝังอยู่ในนั้นด้วย

นักวิจัยได้วัดจุดสำคัญบนกะโหลกศีรษะและฟันที่พบในหลุมฝังศพ นำมาเปรียบเทียบกับขนาดของชะนี 4 สกุลยุคปัจจุบัน จากนั้นก็สร้างแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปวิเคราะห์ในเชิงลึก พบว่ากะโหลกศีรษะและฟันมีความแตกต่างกันมาก อีกทั้งกระดูกก็อยู่ในสกุลที่แยกจากชะนีในยุคปัจจุบัน จึงนับว่าซากที่พบใหม่นี้เป็นสกุลใหม่ของสายพันธุ์ชะนีที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยนักวิจัยได้ตั้งชื่อชะนีชนิดใหม่นี้ว่า “จวินจือ อิมพีเรียลลิส” (Junzi imperialis) ซึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์มีข้อมูลว่าพวกมันอาจรอดชีวิตมาได้ไม่เกิน 300 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ชะนีเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมจีนมาเป็นเวลาหลายพันปี ดังจะเห็นปรากฏอยู่ในวรรณคดีและศิลปะโบราณต่างๆ แต่แม้ว่าชะนีจะเป็นสัตว์เลี้ยงของชนชั้นสูง ก็อาจเป็นไปได้ว่าชะนีจวินจือ อิมพีเรียลลิส สูญพันธุ์ไปเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ในอดีต รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่าและการล่าสัตว์นั่นเอง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ต่างไปจากในประวัติศาสตร์.