จากการได้รับโอกาสเข้าร่วมงานประชุมนานาชาติด้านพลังงานปรมาณูหรือ “อะตอมเอ็กซ์โป” ครั้งที่ 10 ณ เมืองโซชี ประเทศรัสเซีย สิ่งที่รับรู้ได้ชัดเจนที่สุดคือ เป็นเรื่องยากยิ่งที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน ว่าเทคโนโลยีประเภทนี้มิได้น่ากลัวอย่างที่คิด

แล้วจะทำเช่นไร คำตอบส่วนหนึ่งนายคริสเตียน เวกา ประธานกลุ่มยุวชนยุคนิวเคลียร์แห่งอาร์เจนตินา ยกตัวอย่างกระบวนการของประเทศเขาให้ฟังว่า ตอนนั้นมีการสร้างทีมกลุ่มวัยรุ่นที่มีความเข้าใจโดยใช้เวลาถึง 2 ปีในการเรียนรู้ ก่อนจะส่งลงพื้นที่ชุมชน ไล่สอบถามแลกเปลี่ยนความเห็นชนิดบ้านต่อบ้าน

เข้าใจว่าการจะสร้างนิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีอีกแล้วที่ชาติใดๆจะสร้างพลังงานประเภทนี้โดยเริ่มจากศูนย์ ต้องขอคำปรึกษาจากประเทศที่มีประสบการณ์ และที่สำคัญรัฐบาลจะต้องตั้งยุทธศาสตร์ระยะยาว ทำให้คนเข้าใจให้ได้ว่าชาติต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เชียร์สุดลิ่มทิ่มประตู ต้องให้ความจริงว่ามีความเสี่ยง ทุกอย่างมีความเสี่ยง แต่ประโยชน์ที่ตามมาสูงกว่า

พบปะกับคณะจากประเทศไทย ทั้งสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และทีมบริหารบริษัทคีเนติกส์ ร่วมงานอะตอมเอ็กซ์โป ครั้งที่ 10 ที่เมืองโซชี รัสเซีย เพื่อหารือความร่วมมือเพิ่มเติมกับรัฐวิสาหกิจรอสอะตอมของรัฐบาลรัสเซีย.
พบปะกับคณะจากประเทศไทย ทั้งสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และทีมบริหารบริษัทคีเนติกส์ ร่วมงานอะตอมเอ็กซ์โป ครั้งที่ 10 ที่เมืองโซชี รัสเซีย เพื่อหารือความร่วมมือเพิ่มเติมกับรัฐวิสาหกิจรอสอะตอมของรัฐบาลรัสเซีย.

...

ขณะที่ ดร.เบน เฮิร์ด ผู้ก่อตั้งกลุ่มรณรงค์ลดคาร์บอนจากออสเตรเลีย และนายเจเรมี กอร์ดอน ที่ปรึกษาสมาคมนิวเคลียร์โลกจากอังกฤษ เสริมว่า พอประชาชนรับรู้ข้อมูลแล้ว ก็ถึงคราวรัฐลงมือเดินหน้าจริงจัง เสียงต้านย่อมเกิด แต่บางครั้งก็ไม่ใช่จากคนในพื้นที่

ในงานสัมมนา ยังมีการยกตัวอย่างทิศทางของชาติต่างๆ อย่าง “ตุรกี” ที่มีประชากรเพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์ทุกปี ความต้องการพลังงานย่อมเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลเลือกใช้พลังงานผสมผสานคือใช้ทั้งนิวเคลียร์ควบคู่ไปกับพลังงานประเภทอื่น “เบลารุส” กำลังจะเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในปี 2562 เพื่อลดการพึ่งพาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ เช่นเดียวกับ “อียิปต์” ที่ตั้งเป้าใช้งานในปี 2567 เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมัน

เอาเข้าจริง รอบๆประเทศไทย ก็กำลังจะมีนิวเคลียร์กันแล้ว อย่างทางตะวันตก “บังกลาเทศ” เริ่มเทปูนวางฐานการก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานรอสอะตอมของรัสเซียในปี 2560 คาดใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปีครึ่งจะพร้อมใช้งาน มองทางตะวันออก “เวียดนาม” มีแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในจังหวัดนินถ่วน ทางภาคใต้ของประเทศ กำหนดสร้างปี 2563 แต่โครงการถูกชะลอ เชื่อว่าด้วยเหตุผลทางงบประมาณ

ขณะที่ทางภาคเหนือ แดนพญามังกร “จีน” ถือว่าไปไกลแล้ว กำลังโดดเด่นอย่างมากในเวทีโลกด้านนิวเคลียร์ มีโรงไฟฟ้าที่เปิดใช้งานและอยู่ระหว่างการก่อสร้างรวม 58 แห่ง ตั้งอยู่ไม่ไกลบ้านเราคือบนเกาะไหหลำและในมณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของจีน ทั้งยังสร้างหน่วยวิจัย สถาบันการศึกษาผลิตบุคลากรเฉพาะทาง และเริ่มมีการส่งออกเตาปฏิกรณ์ คู่ค้าล่าสุดคือปากีสถาน

ดังนั้น พอจะเรียกได้หรือไม่ว่า เราถูกห้อมล้อมด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เต็มไปหมด ถ้าจะพูดว่ากลัวนิวเคลียร์ เพราะกลัวอุบัติเหตุการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีก็คงไม่ทันแล้วกระมัง!?

และหากสมมติว่าเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นจริง จะมีความน่ากลัวขนาดไหน เรื่องนี้ขอยกข้อมูลจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติหรือ สทน. มาเผยแพร่ครับ ประการแรกเลยในชีวิตประจำวันของคนเราได้รับรังสีอยู่รอบตัวตลอดเวลา ทั้งจากธรรมชาติหรือการเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ในโรงพยาบาล

สำหรับค่าวัดมีหน่วยเป็น “ซีเวิร์ต” (Sv) แต่เวลาวัดจริงมักจะเทียบกับในหลักมิลลิซีเวิร์ตหรือสเกล 1 ต่อ 1,000 ซึ่งในตอนที่เกิดกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ เมื่อปี 2554 นั้น ระดับรังสีที่แผ่มาถึงกรุงโตเกียว (ห่างกัน 254 กิโลเมตร) ได้เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่า 1 มิลลิซีเวิร์ตถือว่าปลอดภัยอย่างมาก

บรรยากาศคึกคักภายในงานประชุมอะตอมเอ็กซ์โป เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ไปจนถึงสื่อมวลชนจากนานาประเทศ.
บรรยากาศคึกคักภายในงานประชุมอะตอมเอ็กซ์โป เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ไปจนถึงสื่อมวลชนจากนานาประเทศ.

...

ด้านสมาคมนิวเคลียร์โลก (WNA) เผยตารางรังสีเป็นค่ามิลลิซีเวิร์ตไว้ว่า เวลาคนเราตรวจเอกซเรย์ปอด จะรับรังสี 0.10 หน่วย ทำซีทีสแกนตรวจสมอง 2 หน่วย รังสีตามธรรมชาติที่ทุกคนได้รับต่อปี 2 หน่วย จะได้รับรังสีมากหน่อยก็เช่น พนักงานบนเครื่องบินเส้นทางไกลบินผ่านขั้วโลก 9 หน่วย หรือการทำซีทีสแกนหัวใจ 16 หน่วย

ส่วนค่าที่เรียกได้ว่าเป็นอันตรายคือระดับหลักพันมิลลิซีเวิร์ตขึ้นไป โดยจากตารางปริมาณรังสีได้รับครั้งเดียว ทำให้เสียชีวิตภายในไม่กี่สัปดาห์คือ 10,000 หน่วย ปริมาณรังสีบันทึกจากพนักงานโรงไฟฟ้า “เชอร์โนบิล” ได้รับและทำให้เสียชีวิตภายใน 1 เดือน 6,000 หน่วย สำหรับปริมาณรังสีสูงสุดต่อ 1 ชั่วโมง บันทึกได้ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะคือ 400 หน่วย เชอร์โนบิลภายหลังการระเบิด 300 หน่วย

ขณะที่ปริมาณรังสีทั้งปีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แผ่ออกมายามสถานการณ์ปกติ ก็แทบไม่ต่างอะไรกับการเข้ารับตรวจเอกซเรย์ 1 ครั้ง “บุหรี่” กลับอันตรายยิ่ง เพราะถ้าสูบวันละ 30 มวน ก็จะเท่ากับรับรังสี 60-160 หน่วยต่อปี แต่มาตรฐานปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสี ประเทศส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่ 20 หน่วยต่อปี เห็นชัดว่าทำงานด้านนี้ยังปลอดภัยกว่า

จึงเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ ที่จะพิจารณาเรื่องนี้กันตามหลักการ ชี้วัดกันตามค่าสถิติ แทนการใช้อารมณ์ที่เกิดจากความไม่รู้เป็นตัวตัดสินใจ!?

วีรพจน์ อินทรพันธ์