ในที่สุด... ปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินโดยสารของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH370 จำต้องปิดฉากลง ท่ามกลางความโศกเศร้าของพ่อแม่คนรักญาติพี่น้องของผู้โดยสารและลูกเรือ ทันทีที่ได้ยินนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ของมาเลเซีย ประกาศยุติการค้นหาซากเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777 ลำนี้ เมื่อวันพุธที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา
ถือเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า การหายสาบสูญของMH370 เที่ยวบินจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ไปยังปักกิ่ง พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 ชีวิตเมื่อ 8 มี.ค.2557 นั้น ถือเป็นโศกนาฏกรรมด้านการบินที่เป็นปริศนาลึกลับซับซ้อนมากที่สุดครั้งประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง
*เรามาถึงจุดที่ไม่สามารถจะค้นหาต่อไปได้
สำหรับการค้นหาซากเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ที่นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ ประกาศจำต้องปิดฉากลงแล้วในครั้งนี้ ถือเป็นการค้นหา MH370 ครั้งใหม่ที่ดำเนินการโดยบริษัท ‘โอเชียน อินฟินิตี้’ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงในการค้นหาวัตถุใต้ท้องทะเล จากสหรัฐฯ ที่อาสาเข้ามาสานต่อการค้นหา MH 370 ภายใต้ข้อตกลงอย่างอาจหาญว่า ‘ไม่เจอ-ไม่ต้องจ่าย’
...
เพียงแต่ รัฐบาลมาเลเซีย และบริษัทโอเชียน อินฟินิตี้ มีเงื่อนไขต่อกันว่า รัฐบาลมาเลเซียจะให้เงินรางวัลแก่บริษัทโอเชียน อินฟินิตี้ จำนวน 70 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,240 ล้านบาท หากสามารถเจอซากเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ลำนี้ ภายใน 3 เดือน หรือ 90 วัน
‘พวกเรามาถึงจุดที่ไม่สามารถจะยังคงค้นหาอะไรบางอย่างที่พวกเราไม่สามารถหาเจออีกต่อไปได้’ นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงเหตุผล ที่ตัดสินใจยุติการค้นหา MH370 ถึงแม้ยังคงเปิดช่อง ความเป็นไปได้ที่อาจจะกลับมาค้นหาเครื่องบินโดยสารลำนี้ต่อ หากได้ข้อมูลใหม่เข้ามา
*พยายามค้นหาครั้งใหม่...คว้าน้ำเหลว จนต้องหยุด
ตามรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า การค้นหาซาก MH370 ใต้มหาสมุทรอินเดีย ของบริษัทโอเชียน อินฟินิตี้ ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม -พฤษภาคม 2561 โดยเป็นการค้นหาในบริเวณใต้มหาสมุทรอินเดีย เป็นพื้นที่กว้างไกลถึง 90,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเชื่อว่าเป็นบริเวณที่เครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส น้ำมันหมดและตกลงในบริเวณดังกล่าว ทว่าการค้นหาไม่เจอซาก MH370 แม้แต่ชิ้นเดียวอีกเช่นเคย
นายแอนโทนี ลก รมว.คมนาคมคนใหม่ของมาเลเซีย แถลงว่าถึงแม้การค้นหาซากเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์สในครั้งนี้ของบริษัทโอเชียน อินฟินิตี้ จะดำเนินการภายใต้ข้อตกลง ‘ไม่เจอ-ไม่ต้องจ่าย’ แต่ตนในฐานะรมว.คมนาคมที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ ก็ไม่ประสงค์ที่จะอนุญาตให้บริษัทโอเชียน อินฟินิตี้ค้นหาซากเครื่องบินอีกต่อไป
*เตรียมจะเผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์ และเป็นฉบับสุดท้าย
รมว.คมนาคมของมาเลเซีย ยังกล่าวต่อสื่อมวลชนด้วยว่า รัฐบาลมาเลเซียจะมีการเผยแพร่รายงานสรุปปฏิบัติการค้นหา MH370 ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ฉบับสมบูรณ์และเป็นฉบับสุดท้ายต่อสาธารณชน คาดว่าจะเป็นเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ พร้อมกับยืนยันว่ารายงานฉบับนี้ จะไม่มีอคติใดๆ ทั้งสิ้น, มีความโปร่งใส รวมทั้งข้อถกเถียงต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นกับ MH370
...
*หลักฐานชี้ชะตากรรม มาจากซากเครื่องบินที่โดนคลื่นซัดขึ้นหาดเท่านั้น
ปฏิบัติการค้นหา MH370 ในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นความร่วมมือโดยรัฐบาลออสเตรเลีย จีน และมาเลเซีย ในการค้นหาซากเครื่องบินบริเวณผิวน้ำและใต้ท้องมหาสมุทรทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย รวมแล้วเป็นพื้นที่ถึง 120,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีการขยายพื้นที่ค้นหาจากเดิมอีกเมื่อปีก่อน โดยใช้งบประมาณในการค้นหามหาศาลถึง 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5,088 ล้านบาท) กลับคว้าน้ำเหลว ไม่เจอซากเครื่องบินแม้แต่ชิ้นเดียว
ตลอด 4 ปี นับตั้งแต่ MH370 หายสาบสูญ มีเพียงแต่ซากเครื่องบิน อาทิ แฟลปพีรอน และสิ่งของสัมภาระ อย่างกระเป๋าเดินทางของชาวจีน รวมแล้วประมาณ 30 ชิ้นที่ถูกคลื่นซัดขึ้นชายหาดบนเกาะในมหาสมุทรอินเดีย อย่าง เกาะเรอูนิยง และประเทศทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ติดกับมหาสมุทรอินเดียทางทิศตะวันออก อาทิ โมซัมบิก ซึ่งซากชิ้นส่วนเหล่านี้มีการตรวจสอบยืนยันแล้วว่ามาจากโบอิ้ง 777 ของเที่ยวบิน MH370
...
*เกิดดราม่า ก่อนปิดฉากค้นหา MH370
สำหรับเรื่องที่สร้างความฮือฮาขึ้นมาอีกครั้งให้แก่ชาวโลกที่เฝ้าติดตามการค้นหา MH370 อย่างใจจดใจจ่อ หลังจากเครื่องบินตกในมหาสมุทรอินเดียมานานกว่า 4 ปี คงเป็นกรณีที่ นายลาร์รีย์ แวนซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน อดีตเจ้าหน้าที่สืบสวนในคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยด้านการบินของแคนาดาที่เคยร่วมสืบสวนเหตุเครื่องบินตก นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการบินไปนั่งออกรายการ 60 Minutes ของสถานีโทรทัศน์ช่อง Nine News ในออสเตรเลีย เมื่อเดือนก่อน เชื่อว่า กัปตัน ซาฮารี อาห์หมัด ชาห์ กัปตันของเที่ยวบิน MH370 ต้องการ ‘ฆ่าตัวตาย’ ด้วยการขับเครื่องบินไปยังจุดไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อทำให้เครื่องบินหายไป
ทว่าต่อมา ทีมเจ้าหน้าที่สืบสวนโศกนาฏกรรม MH370 ของออสเตรเลียได้ออกมาโต้แย้งข้อสรุปของลาร์รีย์ แวนซ์ โดยชี้ว่า ส่วนของ flap (แฟลป) ทำหน้าที่เพิ่มแรงยกให้กับปีกในกรณีความเร็วลดลง ที่พบนอกชายฝั่งประเทศแทนซาเนีย เมื่อปี 2558 นั้น ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งมีการปรับใช้งาน ซึ่งแสดงว่าเครื่องบินพุ่งสู่มหาสมุทรอินเดียด้วยความเร็ว
...
ขณะที่ การสืบสวนของคณะกรรมาธิการคมนาคมของออสเตรเลีย สรุปว่า กัปตันชาห์และนักบินผู้ช่วย บางทีอาจอยู่ในสภาวะหมดสติขณะเครื่องบินพุ่งตกมหาสมุทร และบางทีความดันในห้องนักบินอาจลดฮวบอย่างกะทันหันจนทำให้ทั้งสองหมดสติ...
เรียกว่า นี่คือสมมติฐานที่ทางทีมสืบสวนหลักในโศกนาฏกรรมMH370 เชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดต่อชะตากรรมที่เกิดกับผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินโดยสารมาเลเซีย แอร์ไลน์สลำนี้ ท่ามกลางทฤษฎีสมคบคิดมากมายที่อาจเกิดขึ้นกับเที่ยวบินนี้ ที่ค้นหาอย่างไรก็หาไม่เจอ จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมด้านการบินที่ก่อให้เกิดปริศนามากที่สุดอย่างแท้จริง....