นายไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ และนายคิม ยอง โชล รองประธานคณะกรรมการกลางพรรคแรงงาน อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองทหาร มือขวาของนายคิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ พบปะเจรจากันในนครนิวยอร์กเป็นวันที่ 2 เมื่อ 31 พ.ค. เพื่อหารือพยายามลดช่องจุดยืนเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และปูทางสู่การประชุมสุดยอด (ซัมมิต) ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กับนายคิม จอง-อึน ที่สิงคโปร์ ใน 12 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ นายคิม ยอง โชล เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของเกาหลีเหนือที่ไปเยือนสหรัฐฯ ในรอบเกือบ 20 ปี
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 30 พ.ค. นายคิม ยอง โชล พบปะเจรจาและทานอาหารค่ำกับนายปอมเปโอที่อพาร์ตเมนต์ในนิวยอร์ก ราว 90 นาที แต่ไม่เผยรายละเอียด ทั้งนี้ สหรัฐฯ เรียกร้องให้เกาหลีเหนือล้มเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ที่ตรวจสอบได้และกลับกลายมิได้ ก่อนผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรและให้ความช่วยเหลือเกาหลีเหนือด้านต่างๆ ส่วนเกาหลีเหนือมีจุดยืนมาตลอดว่าจำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อความอยู่รอด และต้องการให้สหรัฐฯ รับประกันความมั่นคงปลอดภัยให้ระบอบการปกครองของตนถ้ายอมปลดอาวุธนิวเคลียร์
...
เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้เผยว่า สหรัฐฯและเกาหลีเหนือยังมีจุดยืนที่ห่างกันมากเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยว่า ถ้าการเจรจาระหว่างนายคิม ยอง โชล กับนายปอมเปโอ ไม่สามารถลดช่องว่างจุดยืนและหาข้อตกลงขั้นต้นกันได้ ทรัมป์จะตัดสินใจว่าจะไปซัมมิตกับคิม จอง-อึน ที่สิงคโปร์หรือไม่ หลังเมื่อ 24 พ.ค. ทรัมป์ขอยกเลิกซัมมิต แต่ต่อมาทั้งสองฝ่ายพยายามรื้อฟื้นซัมมิตขึ้นมาอีกครั้ง
นอกจากนี้ ทีมงานอีกทีมของสหรัฐฯ นำโดยนายโจ ฮากิน รองหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ยังเดินทางไปพบปะเจรจากับนายคิม ชาง-ซอน หัวหน้าคณะเสนาธิการของนายคิม จอง-อึน ที่สิงคโปร์ ส่วนนายซุง คิม เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำฟิลิปปินส์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ ก็ยังเจรจากับนายโช ซุน-ฮุย รมช.ต่างประเทศของเกาหลีเหนือ ที่หมู่บ้านปันมุนจอมในเขตปลอดทหารแบ่งแยกพรมแดนเกาหลีเหนือ-ใต้ ตั้งแต่ 27 พ.ค. เพื่อปูทางซัมมิตที่สิงคโปร์เช่นกัน
ด้านนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.ต่างประเทศรัสเซีย ก็เดินทางไปกรุงเปียงยางและได้พบปะเจรจากับนายคิม จอง-อึน และนายรี ยอง โฮ รมว.ต่างประเทศเกาหลีเหนือ โดยนายลาฟรอฟได้เชิญนายคิม จอง-อึน ไปเยือนรัสเซียเพื่อพบปะเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินด้วย ทั้งนี้ รัสเซียพยายามเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลี ในช่วงที่สหรัฐฯ เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ผลักดันการสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี.