เมื่อไม่นานนี้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่วีแอลที (Very Large Telescope-VLT) ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป ได้ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยชื่อ 2004 EW95 ที่เชื่อว่าจะพลัดพรากไปอย่างลึกลับจากระบบสุริยะชั้นในซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของมัน โดยไปโผล่ในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ที่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป ทว่าล่าสุดมีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยอีกดวงที่สร้างความประหลาดใจไม่แพ้กัน แถมมีปริศนาความเป็นมาชวนไขคำตอบ ซึ่งกำลังโคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ ใกล้วิถีการโคจรของดาวพฤหัสบดี

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ชื่อ “(514107) 2015 BZ509” นักดาราศาสตร์จากหอดูดาว เดอ ลา โกต ดาซูร์ ในฝรั่งเศสเผยว่ามันไม่ได้โคจรตามแบบปฏิบัติของดาวเคราะห์หรือวัตถุอวกาศโดยทั่วๆไป นั่นคือการโคจรรอบดวงอาทิตย์ไปในทิศทางเดียวกัน แต่ดาวเคราะห์ดวงนี้กลับโคจรไปในทิศทางตรงกันข้าม หรือสวนทางแตกต่างไปจากดวงดาวอื่น และจากการตรวจสอบวงโคจร เป็นไปได้ว่าดาวเคราะห์น้อย (514107) 2015 BZ509 จะมีถิ่นกำเนิดจากระบบสุริยะอื่น ที่ไหนสักแห่ง แต่ถูกแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์จับดึงเข้ามาอยู่ในระบบสุริยะของเราเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีมาแล้ว ถ้าเปรียบว่าได้วีซ่า ก็เรียกว่าได้ประทับตราอยู่ในระบบสุริยะของเราแบบถาวรเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้นักดาราศาสตร์พบข้อมูลเบื้องต้นว่าดาวเคราะห์น้อย (514107) 2015 BZ509 หรือจะเรียกสั้นๆ “บีแซด” (BZ) มีความกว้างเกือบ 3 กิโลเมตร มีการโคจรแบบย้อนกลับ และยังไม่รู้ว่าองค์ประกอบของมันมีอะไรบ้าง ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ท้าทายคำตอบว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจมีอายุเก่าแก่ที่สุดในระบบสุริยะก็เป็นได้.