นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเปิดเผยถึงการค้นพบที่น่าอัศจรรย์ นั่นคือกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสามารถจับภาพดาวยักษ์สีน้ำเงินอยู่ไกลจากโลกของเราถึง 9,000 ล้านปีแสง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นดาวฤกษ์ปกติที่มีเสถียรภาพ โดยไม่ใช่การตรวจจับแสงวาบของเหตุการณ์ซุปเปอร์โนวา หรือการระเบิดของรังสีแกมมา
การค้นพบดาวยักษ์สีน้ำเงินดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะระยะห่างถึง 9,000 ล้านปีแสงนั้นเกินกำลังที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลจะส่องพบได้ แต่ถือเป็นเรื่องโชคดีที่ได้ปรากฏการณ์ “เลนส์ความโน้มถ่วง” (gravitational lens) มาช่วยโดยบังเอิญ ซึ่งปรากฏการณ์นี้คือการบิดโค้งของแสงจากกระจุกดาวกาแล็กซีขนาดใหญ่ (massive galaxies cluster) สามารถขยายให้เห็นระยะอันห่างไกลในจักรวาล จึงทำให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลจับภาพดาวยักษ์สีน้ำเงินที่แสนไกล โดยตั้งชื่อดาวดวงนี้ว่า “อิคารัส” (Icarus) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า MACS J1149 +2223 Lensed Star 1 (LS1)
ทั้งนี้ ทีมนักดาราศาสตร์จะใช้ดาวอิคารัส เป็นตัวทดสอบและหักล้างเกี่ยวกับทฤษฎีสสารมืด และหลุมดำโบราณจำนวนมหาศาลที่ซ่อนตัวอยู่ภายในกระจุกดาวกาแล็กซี นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าดาวอิคารัสจะมีการขยายตัวหลายเท่าในอีก 10 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกับกระจุกดาวที่เคลื่อนที่อยู่รอบๆ และบางทีอาจเพิ่มความสว่างได้มากถึง 10,000 เท่า.