Credit : Disease Biophysics Group/Harvard University
เมื่อเร็วๆนี้ นักวิจัยจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งฮาร์วาร์ด จอห์น เอ. พอลสัน และแผนกวิศวกรรมด้านชีวภาพจากสถาบันไวส์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา เผยถึงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ของผ้าปิดแผล ที่มีคุณสมบัติช่วยเร่งการเยียวยารักษาบาดแผลและช่วยฟื้นฟูการสร้างเนื้อเยื่อใหม่อย่างรวดเร็ว
นักวิจัยอธิบายว่า ผ้าปิดแผลนี้ใช้ระบบผลิตเส้นใยจากนาโนไฟเบอร์ 2 ชนิดที่แตกต่างกัน โดยมีส่วนประกอบคือโปรตีนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติทั้งในพืชและสัตว์ วิธีดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจากกระบวนการทำงานของเนื้อเยื่อของทารกในครรภ์ เนื่องจากผิวหนังทารกในครรภ์จะมีโปรตีนชื่อไฟโบรเนกติน (fibronectin) อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นโปรตีนเส้นใยที่ช่วยรักษาแผลได้ดี นักวิจัยพบว่าบาดแผลที่ผ่านการรักษาด้วยไฟโบรเนกตินจะมีการฟื้นฟูเนื้อเยื่อถึง 84% ภายใน 20 วัน ฉะนั้นการผลิตไฟโบรเนกตินจึงเป็นความท้าทายทางวิศวกรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ การพัฒนาวิธีรักษาบาดแผลวิธีใหม่ ส่วนหนึ่งก็เพื่อใช้ในทางการทหาร เนื่องจากทหารที่ไปรบในสงครามมักจะได้รับบาดเจ็บมีแผลฉกรรจ์น่าสยดสยอง ดังนั้น หากค้นพบวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ก็จะช่วยลดการสูญเสียอวัยวะรวมถึงชีวิตได้.