Credit: Yale University - Credit: Michael Hanson
เมื่อประมาณ 53 ปีที่แล้วมีการขุดพบกะโหลกศีรษะสัตว์โบราณชนิดหนึ่งที่รัฐคอนเนกติกัตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอีก 20 ปีกว่าต่อมา นักบรรพชีวินวิทยาระบุว่า ซากดึกดำบรรพ์นี้เป็นสัตว์เลื้อยคลานเครือญาติของกิ้งก่ายุคใหม่ที่ชื่อทัวทารา (tuatara) แต่ล่าสุดนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยลได้นำซากดังกล่าวมาตรวจสอบอีกครั้ง จนพบว่าจริงๆแล้วมันคือสัตว์เลื้อยคลานสายพันธุ์ใหม่ที่มีชีวิตในยุคก่อนประวัติศาสตร์
สัตว์เลื้อยคลานสายพันธุ์ใหม่นี้ได้รับการตั้งชื่อว่าโคโลบ็อปส์ โนวิพอร์เทนซิส (Colobops noviportensis) นักบรรพชีวินวิทยาได้ใช้วิธีซีทีสแกน (Computerized TomographyScan-CT scan) คือการฉายรังสีและสร้างแบบจำลอง 3 มิติเพื่อแสดงคุณลักษณะใหม่ทั้งหมดของกะโหลกศีรษะ พบว่าโคโลบ็อปส์ โนวิพอร์เทนซิสมีอายุ 200 ล้านปี เป็นเพศผู้ มีคุณสมบัติที่โดดเด่นมากโดยเฉพาะกล้ามเนื้อขากรรไกรที่มีขนาดใหญ่พิเศษต่างจากสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ ที่อยู่ร่วมยุคกัน ปากของมันก็แข็งแรงกัดได้เจ็บแสบ คาดว่าพวกมันจะอาศัยอยู่ท่ามกลางไดโนเสาร์ยุคแรกๆ
เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสัตว์เลื้อยคลานยุคใหม่ นักบรรพชีวินวิทยาเผยว่า โคโลบ็อปส์ โนวิพอร์เทนซิสมีการพัฒนากล้ามเนื้อขากรรไกรอย่างน่าทึ่ง ถือว่าเป็นตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ที่มีทั้งโครงสร้างขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่สำคัญต่อการศึกษาทำความเข้าใจถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสัตว์ยุคโบราณ.