ขออนุญาตรับใช้เรื่องของจีนกันต่อครับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีการบรรจุแนวคิดของสีจิ้นผิงลงไปในรัฐธรรมนูญด้วย ตามผู้ใหญ่ไปบรรยายหลายแห่ง มีคนยกมือถามว่า ใส่แนวความคิดของบุคคลลงไปในรัฐธรรมนูญได้ด้วยหรือ?
ขอตอบว่า “ได้ครับ” ใครอ่านรัฐธรรมนูญจีน ผมขอแนะนำให้อ่านอารัมภบทด้วยนะครับ ในอารัมภบทมีหลายข้อความที่สำคัญมากกว่าในมาตรา อารัมภบทมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นที่มาของเนื้อหารัฐธรรมนูญ ผู้อ่านท่านต้องอย่าลืมนะครับ ว่าพรรคการเมืองในประเทศตะวันตกได้อำนาจมาจากกระบวนการการเลือกตั้ง แต่พรรคคอมมิวนิสต์ได้อำนาจมาจากการต่อสู้ตามแนวทางการชี้นำของลัทธิมาร์กซ์ เลนิน และแนวความคิดของเหมาเจ๋อตง
สาระสำคัญของแนวความคิดของเหมาเจ๋อตงเป็นการเพิ่มเติมและพัฒนาลัทธิมาร์กซ์และเลนิน แต่ในทัศนะของพวกคอมมิวนิสต์จีนปัจจุบันมองว่า เหมาละเมิดหลักความเป็นจริงมากมายหลายอย่าง เช่น ยกเลิกระบบเศรษฐกิจเอกชน จัดตั้งคอมมูนประชาชน ทำให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนคนจีนเสียหายร้ายแรง แถมยังปลุกระดมมวลชนให้ก่อการปฏิวัติวัฒนธรรม ทำให้เกิดความสูญเสียแก่พรรคและประชาชน หลายคนคิดว่าเหมาทำความผิดเพราะความเฒ่าชะแรแก่ชรา หลงตัวเอง เผด็จการ ไม่เคารพในหลักการประชาธิปไตย เหมือนกับไปยึดระบอบกษัตริย์ว่าฮ่องเต้ต้องเหนือขุนนางและประชาชน ไม่ต้องฟังเสียงคนอื่น รัฐมีอำนาจสิทธิ์ขาด
พอเหมาตายและมีผู้นำรุ่นที่ 2 ก็มีการบรรจุทฤษฎีของเติ้งเสี่ยวผิงลงในรัฐธรรมนูญ เติ้งเปลี่ยนสาระสำคัญของลัทธิสังคมนิยม ว่าประชาชนต้องมั่งคั่งร่วมกัน ยุคของเหมามีการจัดตั้งคอมมูน ซึ่งเป็นการกั้นพลังการผลิต แต่ในยุคของเติ้ง แกปลดปล่อยพลังการผลิต พัฒนาพลังการผลิต กำจัดการกดขี่ ขูดรีด เติ้งบอกว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือ พลังการผลิต
...
ปัญหาของจีนคือ ยังมีบางดินแดนที่ยังไม่รวมกับแผ่นดินใหญ่ เช่น ไต้หวัน เติ้งจึงมีแนวคิด 1 ประเทศ 2 ระบบ แต่ตอนหลังแนวคิดนี้ก็ไปใช้กับฮ่องกงและมาเก๊าด้วย ในยุคของเหมา เหมาและแก๊ง 4 คนบอกว่าทัศนะการมองโลกของนักวิชาการจีนเป็นทุนนิยม เป็นพวกชนชั้นนายทุน เติ้งนี่ล่ะครับเป็นคนปลดปล่อยแนวความคิดที่ยึดถือกันมาเป็นเวลาช้านาน ว่านักวิชาการเป็นพวกนายทุน โดยบอกว่านักวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกรรมาชีพ กรรมกรใช้แรงกาย นักวิชาการใช้แรงงานสมอง คน 2 พวกใช้แรงงานเหมือนกันทั้งสิ้น
เติ้งยอมให้มีการทำธุรกิจอย่างอิสระในบางพื้นที่ มองว่าบางส่วนของเกษตรกรและคนงาน ถ้ามีความมานะพยายามอุตสาหะก็จะมีรายได้มากกว่าคนอื่น เติ้งกระตุ้นให้พื้นที่อื่นๆหันมาเอาแบบอย่างและทำให้คนทั้งประเทศพัฒนาได้มากขึ้น เติ้งเคยพูดที่เสิ่นเจิ้นว่า การเดินแนวทางสังคมนิยมคือ การต้องค่อยๆทำให้ความมั่งคั่งร่วมกันกลายเป็นความจริง พื้นที่ที่มีศักยภาพก็พัฒนาไปก่อน พื้นที่มีศักยภาพน้อยกว่าก็พัฒนาทีหลัง แต่ในที่สุดก็มีความมั่งคั่งร่วมกัน
เหมาปิดประเทศ เติ้งเป็นคนแรกที่บอกว่า จีนต้องเปิดประเทศ การเปิดประเทศของจีนตามแนวความคิดของเติ้ง ทำให้มีการแก้ไขการขาดแคลนปัญหาเงินทุน นำเข้าเงินทุน เทคโนโลยี และการจัดการที่ทันสมัย พวกนี้นี่แหละครับ ทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตมาจนทุกวันนี้
เติ้งมีบันได 3 ขั้น ตอน พ.ศ.2523 รายได้ต่อหัวต่อปีของคนจีนอยู่ที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ บันได 1 ขั้นของเติ้ง คือต้องการให้รายได้ต่อหัวของคนถึง 500 ดอลลาร์ บันไดขั้นที่ 2 ปลายศตวรรษที่ 20 ต้องการให้ถึง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ บันไดขั้นที่ 3 ในศตวรรษหน้าคือ ศตวรรษที่ 21 ซึ่งหมายถึงในปีคริสต์ศักราชนี้ เติ้งต้องการให้ถึงมาตรฐานของประเทศพัฒนาแล้วระดับกลาง
ในรัฐธรรมนูญของจีนยังมีเรื่องแนวคิดว่าด้วยเรื่อง 3 ตัวแทน และแนวคิดว่าด้วยทัศนะการพัฒนาแนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ จีนเป็นประเทศที่ยึดถือรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง องค์กรภาครัฐและกองทัพ พรรคการเมือง องค์กรทางสังคม ต่างปฏิบัติการทุกอย่างตามรัฐธรรมนูญ ปกป้องและเคารพรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด
การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และยุ่งยากมาก.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com