(Credit : Aivo Lepland, Geological Survey of Norway ; courtesy of Science/AAAS)
เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยนานาชาตินำโดยมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในสหรัฐอเมริกา เผยถึงการศึกษาชิ้นส่วนของก้อนเกลือทะเลอายุ 2,000 ล้านปี ที่สกัดได้จากหลุมลึกเกือบ 2 กิโลเมตรในภูมิภาคคาเรเลีย ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศรัสเซีย ผลึกเกลือเหล่านี้ถูกทับถมฝังอยู่ใต้ดินเมื่อน้ำทะเลโบราณในแถบนี้ได้ระเหยหายไป พวกเขาเชื่อว่านี่เป็นหลักฐานใหม่จะช่วยไขคำตอบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศของโลกไปสู่สภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจน นับตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน
ก้อนผลึกหินเกลือดังกล่าวถือเป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่สำคัญ ทำให้ทีมวิจัยสามารถบ่งชี้ได้ว่าน้ำทะเลโบราณแห่งนี้มีการตกตะกอนของแร่ธาตุที่มีความเข้มข้นของธาตุซัลเฟตสูงอย่างน้อย 30% เมื่อเทียบกับธาตุซัลเฟตในมหาสมุทรยุคปัจจุบัน และยังมีปริมาณสูงกว่าที่พวกเขาคาดคิดมาก่อนหน้า นอกจากนี้ยังพบว่าออกซิเจนเริ่มปรากฏตัวขึ้นในชั้นบรรยากาศโลกเมื่อประมาณ 2,400-2,300 ล้านปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการศึกษาวิจัยใหม่เรื่อยมา แต่นักธรณีวิทยายังไม่แน่ใจว่าการสะสมตัวของออกซิเจนนั้นเกิดจากการเจริญเติบโตของไซยาโนแบคทีเรีย (cyanobacteria) ซึ่งสามารถสังเคราะห์แสงและเกี่ยวข้องกับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เกิดออกซิเจน โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ใช้เวลาหลายล้านปีหรือเร็วกว่านั้น.