(Credit : NASA/JPL)

มีคำถามมาเนิ่นนานว่าโลกเรานั้นเป็นดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เพียงแห่งเดียวในจักรวาลอันกว้างใหญ่หรือไม่ เพราะนับตั้งแต่มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบมากมายและหลายดวงก็มีปัจจัยหลายอย่างที่คล้ายกับโลก จนนำไปสู่ความคิดที่ว่า เราอาจไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เนื่องจากมีสิ่งมีชีวิตที่คล้ายกับเราหรือในรูปแบบที่ต่างออกไป โดยพวกเขาอาศัยอยู่บนดาวดวงอื่นก็เป็นได้

เมื่อเร็วๆนี้นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ในออสเตรีย ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ว่าอาจไม่ต้องมองหาสิ่งมีชีวิตที่ไกลจากระบบสุริยะของเรา แต่กลับมุ่งความสนใจไปยังดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ที่ชื่อเอนเซลาดัส (Enceladus) ที่แม้จะปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งแต่มีการศึกษาก่อนหน้านี้เผยว่า สภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์ดังกล่าวอาจเหมาะสำหรับจุลินทรีย์เซลล์เดียวอย่างอาร์เคีย (archaeans) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดในโลก ทีมวิจัยจึงได้ทดลองเพาะเลี้ยงอาร์เคียที่ชื่อ Methanothermococcus okinawensis เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่ชอบอยู่ในอุณหภูมิสูง และให้พวกมันอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เลียนแบบดวงจันทร์เอนเซลาดัส ผลลัพธ์คือแบคทีเรียชนิดนี้สามารถเติบโตได้

นักวิจัยยังเผยว่าก๊าซมีเทนบางชนิดที่ตรวจพบบนดวงจันทร์เอนเซลาดัส อาจเกิดขึ้นจากแบคทีเรียอาร์เคียผลิตก๊าซมีเทนขึ้นผ่านกระบวนการที่เรียกว่าเมธาโนเจนส์ (methanogens) นอกจากนี้ ยังคำนวณพบว่าบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสมีปริมาณไฮโดรเจนเพียงพอต่อการรองรับจุลินทรีย์ ซึ่งเกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยาในแกนหินของดาวนั่นเอง.