เมื่อเอ่ยถึงชื่อ มาลาลา ยูซาฟไซ สตรีชาวปากีสถาน เชื่อว่า ท่านที่ติดตามข่าวต่างประเทศคงจำกันได้ ตอนนี้มาลาลาไม่ใช่เด็กอีกต่อไป เพราะอายุ 20 ปีเต็ม เธอเดินทางกลับไปยังปากีสถานบ้านเกิดเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี หลังเหตุการณ์สยองขวัญเมื่อเธอถูกตาลีบันบุกจ่อยิงที่ศีรษะ มีอาการปางตาย เมื่อปี พ.ศ.2555 ก่อนถูกส่งตัวไปรักษาและพักฟื้นที่ประเทศอังกฤษกระทั่งปัจจุบันและกลายเป็นบุคคลโด่งดังระดับโลก
มาลาลาเดินทางมายังปากีสถานพร้อมเจ้าหน้าที่กองทุนการกุศล “มาลาลา ฟันด์” ที่ตั้งขึ้นตามชื่อของเธอ ซึ่งก่อนหน้านี้มาลาลาได้รับการยกย่องว่าเป็น วีรสตรีนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิการศึกษาของเด็กผู้หญิง นอกจากนี้ เธอยังได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี พ.ศ.2557 ร่วมกับนายไกลาส สัตยาธี นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเด็กชาวอินเดียด้วย
ความเป็นสตรีที่ไม่ธรรมดาของมาลาลานี้เอง ทำให้เธอได้มีโอกาสพบกับผู้นำประเทศหลายท่าน เช่น เมื่อวันเกิดครบ 17 ปี เธอยังไปล็อบบี้ขอให้ประธานาธิบดีกู้ดลัค โจนาธานแห่งไนจีเรีย ได้โปรดให้ความช่วยเหลือแก่เด็กหญิงจำนวนหลายร้อยคนที่ถูกกองกำลังฝ่ายกบฏจับไว้เป็นตัวประกัน
หรือแม้แต่การได้พบกับนายบารัค โอบามา ในช่วงที่ท่านยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว ขณะที่ปากีสถานยังคงมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้น
แม้ชาวโลกจะยกย่องเธอว่า เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อการศึกษาของเด็กผู้หญิง มาลาลายังขึ้นชื่อว่า เป็นคนเข้มแข็งและกล้าหาญเพราะเธอต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาท่ามกลางความรุนแรงและไม่สงบภายในประเทศ แต่ก็ยังมีชาวปากีสถานบางกลุ่มที่ไม่ชื่นชอบเธอก็มี โดยกล่าวหาว่า เธอเป็นเครื่องมือของชาวตะวันตก ก็อย่างว่าละนะ ใครที่มีคนรักก็ย่อมมีคนชังเป็นธรรมดา
...
ตั้งแต่เกิด เธออาศัยอยู่ในพื้นที่เขตสวัต ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน มีบิดาชื่อนายไซอุดดิน เป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง และเป็นผู้สนับสนุนให้เธอเรียนหนังสือ
เธอจึงเขียนข้อความผ่านบล็อกให้แก่ บีบีซี โดยใช้นามแฝงว่า กุล มาไล โดยเธอเขียนเมื่อปี 2552 เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตในช่วงที่ถูกกลุ่มตาลีบันควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพของสตรี เช่น ห้ามผู้หญิงเดินตลาด, ห้ามนักเรียนหญิงไปโรงเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอรับไม่ได้ กระทั่งถูกมือปืนยิงเธอเข้าที่ศีรษะ จนต้องถูกย้ายไปรักษาตัวที่ประเทศอังกฤษจนหาย และยังคงเรียกร้องถึงอิสรภาพในการศึกษาอย่างไม่ย่อท้อ.
ยูเรนัส