“7 วันรอบโลก” ตอนที่แล้วพูดถึง “สื่อมวลชน” ของเยอรมนี ในโอกาสที่มูลนิธิ “คอนราด อาเดนาวร์” เชิญบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย 5 ฉบับไปดูงานและเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหลายหน่วยงานใน “ดอยช์แลนด์” วันนี้มาว่ากันต่อครับ
หน่วยงานอีกแห่งที่เราไปเยือนคือ “สำนักงานใหญ่ตำรวจสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” หรือ สนง.ตำรวจกลาง (Bundespolizei) ที่เมืองพ็อตส์ดัม เมืองเอกของรัฐบรันเดนบูร์ก ห่างกรุงเบอร์ลิน 26 กม. ซึ่ง ดร.ดีเทอร์ โรมานน์ ประธาน สนง.ตำรวจกลาง ให้เกียรติสละเวลามาต้อนรับเองแม้จะมีงานล้นมือ
โครงสร้างตำรวจเยอรมนีมีการกระจายอำนาจสูง โดยทั้ง 16 รัฐมีกองกำลังตำรวจของตัวเองด้วย ขณะที่มีสำนักงานบังคับใช้กฎหมายกลางอีก 3 แห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ สนง.ตำรวจกลาง ซึ่งมีภาระหน้าที่กว้างขวางมาก รวมทั้งพิทักษ์พรมแดน รักษาความปลอดภัยรถไฟ น่านน้ำ การบิน สนามบิน ต่อสู้การก่อการร้าย อาชญากรรม รวมทั้งทางไอทีและไซเบอร์ และอาจถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศด้วย เช่น ไปทำภารกิจลับ ไปอารักขาสถานทูตเยอรมนีในต่างแดน และเข้าร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพนานาชาติ
...
สนง.ตำรวจกลาง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 ก.ค. 2548 มี 67 สถานีทั่วประเทศ มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดราว 40,000 นาย ส่วนใหญ่กว่า 35,000 นาย ได้รับการฝึกอบรมดีเยี่ยมจึงมีประสิทธิภาพสูงมาก ทั้งในการรักษาความมั่นคงภายในประเทศและยุโรป ยิ่งยุคนี้ภัยก่อการร้ายรุนแรงกว่าแต่ก่อนมาก และมีผู้อพยพเข้าเยอรมนีกว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัญหาต่อไปอย่างน้อย 10-15 ปี สนง.ตำรวจกลางจึงต้องมีองค์กรใหญ่ขึ้นและทำงานหนักขึ้นเยอะ
สนง.ตำรวจกลางมีงบ-ประมาณราว 3,300 ล้านยูโร (ราว 122,100 ล้านบาท) ต่อปี ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับภารกิจหนักอึ้ง และต้องร่วมมือกับนานาชาติทั่วโลก รวมทั้งการแชร์ข่าวกรอง แต่ถึงแม้เป็นองค์กรใหญ่สลับซับซ้อน กลับมีการคอร์รัปชันน้อยมาก ใน 25-30 ปีหลัง มีคดีคอร์รัปชันแค่ 1-2 คดีเท่านั้น
คณะของเรายังมีโอกาสไปเยี่ยมชม “อาคารรัฐสภา” (บุนเดสทาก หรือไรชส์ทาก) ในกรุงเบอร์ลิน ได้รับเกียรติเข้าพบคุณโฟล์คเกอร์ คอเดอร์ ประธานกลุ่ม ส.ส.ของพรรค “ซีดียู” ฝ่ายขวา-กลาง แกนนำรัฐบาลผสมภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล และคุณสเตฟเฟน ซีเบิร์ต หัวหน้าโฆษกรัฐบาล อีกทั้งได้ไปเยี่ยมชมโรงงานของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ “เดมเลอร์” ที่เมืองสตุตการ์ตด้วย
ในช่วงเราไปเยอรมนี “พรรคซีดียู/ซีเอสยู” บรรลุข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่กับพรรค “เอสดีพี” ฝ่ายซ้ายได้พอดี หลังการเลือกตั้งเกือบ 6 เดือน จึงทำให้ยุโรปโล่งอกที่พี่ใหญ่เยอรมนีพ้นภาวะอึมครึมไปได้
ในบางวงเสวนา นอกจากคุยกันเรื่องผู้อพยพและก่อการร้ายแล้ว ยังมีกรณีสหรัฐฯตั้งภาษีสินค้าต่างชาติ เสี่ยงต่อการเกิดสงครามการค้า ไปจนถึงเรื่อง “จีน” แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก รวมทั้งในยุโรปด้วย
ชาติแกนนำอียู รวมทั้งเยอรมนีเองก็ดูเหมือนจะหวาดระแวงว่า จีนจะใช้กลยุทธ์ “แบ่งแยกและปกครอง” กับอียู โดยเดินเกมรุกเข้าสู่หลายประเทศที่อยู่ชายขอบรอบนอกอียู ทั้งในภูมิภาคบอลข่าน ยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก ซึ่งต้องการเข้าเป็นสมาชิกใหม่อียู ประเทศเหล่านี้ยังขัดสนจนยากจึงต้องการเงินลงทุนมหาศาลจากจีน
...
จีนอาจเห็นโอกาสทอง จึงอัดเม็ดเงินเข้าไปลงทุนในภาคโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ว่า และยังพยายามเข้าไปซื้อถือครองหุ้นในภาคยุทธศาสตร์ เช่น ท่าเรือ โรงไฟฟ้า และเทคโนโลยีสำคัญๆ เพราะอาจเห็นว่า ประเทศชายขอบเหล่านี้คือ “ประตู” รุกเข้าสู่อียู ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังผลักดันอภิมหาโครงการ “เส้นทางสายไหมยุคใหม่” (หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง-One Belt, One Road) เชื่อมโยงเอเชีย แอฟริกาและยุโรปอยู่อย่างเข้มข้น
ตั้งแต่ปี 2555 จีนเข้าไปลงทุนมหาศาลในภาคโครงสร้างพื้นฐานในยุโรป ภายใต้ “ความริเริ่ม 16+1” ซึ่งประ-กอบด้วย จีนกับสมาชิกอียู 11 ชาติ และชาติบอลข่าน 5 ชาติ ที่วิ่งเต้นขอเข้าเป็นสมาชิกอียู
ปี 2559 บริษัทเดินเรือ “คอสโก” ของจีน ยังไปซื้อถือหุ้นใหญ่ของท่าเรือ “พิเรอุส” ของกรีซ เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว บริษัทร่วมทุนของจีน เริ่มสร้างรางรถไฟเชื่อมกรุงเบลเกรดในเซอร์เบียกับกรุงบูดาเปสต์ในฮังการี และเดือน ก.พ.ปีนี้ บริษัทรถยนต์ “จีลี่” (Geely) ของจีน ก็ซื้อหุ้นใหญ่จาก “เดมเลอร์” บริษัทแม่ของ “เมอร์เซเดส เบนซ์” ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีถึงร้อยละ 9.7
...
แม้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับเยอรมนีจะแข็งแกร่ง มูลค่าการค้าทวิภาคีปีที่แล้วพุ่งขึ้นถึง 186,600 ล้านยูโร เทียบกับ 170,200 ล้านยูโรในปี 2559 แต่ความหวั่นกลัวจีนรุกทำให้มีกระแสกดดันให้มีการออกกฎหมายควบคุมการลงทุนของจีนในเยอรมนี
แม้แต่นายกฯแมร์เคิลเองก็เตือนเมื่อเดือนที่แล้วว่า สมาชิกอียูที่เกี่ยวข้องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานของจีนควรมี “จุดยืนด้านนโยบายต่างประเทศ” ร่วมกัน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอียูและป้องกันการแตกแยกกันเอง แมร์เคิลยังเตือนว่าการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศชายขอบอียูไม่ควรมี “เงื่อนไขทางการเมือง” พ่วงด้วย เพื่อไม่ให้จีนใช้อิทธิพลแทรกแซงยุโรปในเวทีโลกได้ เหมือนที่เคยใช้ได้ผลในการลงมติในสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรื่องกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ และเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน
...
เยอรมนียังอาจมองจีนเป็น “คู่แข่ง” ในตลาดส่งออกโลก ไม่ได้เป็นแค่หุ้นส่วนการค้าที่จะได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายแบบ “วิน-วิน” ดังที่จีนย้ำยืนยัน และอาจเห็นว่าจีนน่ากลัวกว่า “รัสเซีย” ด้วยซ้ำไป!
อ่านเพิ่มเติม
บวร โทศรีแก้ว