คนไทยจะไว้ใจได้กา! จับตา สถานีอวกาศเทียนกง-1 จวนเจียนใกล้ตกถึงโลก
คนไทยจะไว้ใจได้กา! จับตา สถานีอวกาศเทียนกง-1 จวนเจียนใกล้ตกถึงโลก
ไทยรัฐออนไลน์
ล่วงเข้าสู่ปีใหม่ หนึ่งในเรื่องสำคัญที่ชาวโลกต้องเฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ ย่อมมีเหตุการณ์ สถานีอวกาศเทียนกง-1 ของจีน กำลังจะตกลงสู่โลกของเราในอนาคตอันใกล้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม หรืออาจเลยไปถึงเดือนเมษายนที่จะถึง
ความลุ้นระทึกในการตกมายังโลกของ สถานีอวกาศเทียนกง-1 ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ทราบกันดีว่าทำเอาชาวโลกต้องลุ้นกันไม่น้อย เพราะไม่สามารถคำนวณตำแหน่งจุดตกที่แน่นอนของเทียนกง-1ได้เลย แตกต่างไปจากจุดจบของดาวเทียมที่ผ่านๆ มา อันเนื่องมาจากจีนได้สูญเสียการควบคุมสถานีอวกาศเทียนกง-1 มาตั้งแต่ปี 2559 ทำไดัแต่เพียง เฝ้าดูด้วยความหวั่นๅว่า สุดท้ายจะตกลงที่บริเวณไหนของโลก!!!
ข่าวแนะนำ

*ย้อนความเป็นมา สถานีอวกาศแห่งแรกของจีน ‘เทียนกง-1’
‘สถานีอวกาศเทียนกง-1’ (Tiangong-1) ซึ่งภาษาจีนแปลความหมายออกมาว่า ‘ปราสาทลอยฟ้า’ มีน้ำหนัก 8.5 ตัน ความยาว 40 ฟุต ถือเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีน มีลักษณะเป็นโมดุลห้องปฏิบัติการอวกาศที่ไร้มนุษย์บังคับ เพื่อใช้เป็นห้องแลป ทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ รวมทั้งเป็นฐานใช้ฝึกหัดการจอดเทียบท่า และทดสอบทักษะอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ในโครงการสร้างสถานีอวกาศในอนาคต
สถานีอวกาศเทียนกง-1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรโลก เมื่อ 29 ก.ย.54 จากฐานปล่อยจรวดในมณฑลกานชู โดยกำหนดให้มีวงโคจรห่างจากโลก 350 กิโลเมตร
จากนั้น องค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติของจีน ได้ส่งยานอวกาศพร้อมนักบินอวกาศไปเชื่อมต่อกับเทียนกง-1 จึงทำให้จีนกลายเป็นชาติที่ 3 ที่สามารถสร้างสถานีอวกาศเป็นของตนเอง ต่อจากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย

*แผนเดิม จีนตั้งใจควบคุม เทียนกง-1 ให้ตกในมหาสมุทร
ตามรายงานของสำนักข่าว CNN ระบุว่า สถานีอวกาศเทียนกง-1 ถูกยิงขึ้นสู่วงโคจรของโลก เมื่อเดือนกันยายน 2554 ซึ่งความสำเร็จของเทียนกง-1 ทำให้องค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เดินหน้าต่อทันที แต่ด้วยความที่เป็นห่วงว่า เทียนกง-2 อาจไม่สามารถเข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จ จึงทำให้ CNSA ตัดสินใจเก็บ ‘เทียนกง-1’ ต่อในฐานะเป็น ‘แบ็กอัพ’ คอยให้ความช่วยเหลือ เทียนกง-2 ที่จะถูกยิงขึ้นสู่วงโคจรของโลก ในช่วงเดือนตุลาคมปี 2559 ขณะที่ตามแผนเบื้องต้น CNSA มีกำหนดปลดระวาง เทียนกง-1 ในปีนั้น และจะควบคุมสถานีอวกาศนี้ให้ตกในมหาสมุทร

*แจ้งยูเอ็น สูญเสียการควบคุม เทียนกง-1
แต่แล้ว เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ระบบปฏิบัติการของเทียนกง-1 ได้หยุดทำงานลง และจากนั้นในเดือน พ.ค.59 องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติของจีน ได้แจ้งไปยังสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่า ไม่สามารถควบคุมสถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ ทว่าจีนไม่ได้อธิบายชี้แจงสาเหตุอย่างละเอียดว่าเป็นเพราะอะไร? โดยสถานีอวกาศนี้กำลังลดระดับกลับมายังโลก โดยไม่สามารถระบุพื้นที่และวันเวลาตกถึงโลกที่แน่ชัดได้
ขณะที่ตามความเห็นของ ศ.โรเจอร์ แฮนด์เบิร์ก แห่งมหาวิทยาลัยเซ็นทรัล ฟลอริดา ระบุว่า จีนอาจสูญเสีย เทียนกง-1 เพราะเชื้อเพลิงหมด


*ไม่แน่ชัด เทียนกง-1 จะตกที่ไหนแน่!!
ตามรายงานของเว็บไซต์ บีบีซี ชี้ว่า การที่หน่วยควบคุมภาคพื้นดินไม่สามารถจุดระเบิดจรวดขับดันและบังคับทิศทางของยานได้ ทำให้ไม่อาจบอกตำแหน่งจุดตกที่แน่นอนของชิ้นส่วนสถานีอวกาศเทียนกง-1 ว่าจะไปตกแน่นอนที่ใดได้ โดยจะรู้ก็ต่อเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนตกถึงพื้นโลกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บีบีซี รายงานคาดว่า สถานีอวกาศเทียนกง-1 จะตกลงบริเวณระหว่างละติจูด หรือเส้นขนานที่ 42.8 องศาเหนือ และ 42.8 องศาใต้ ซึ่งกินพื้นที่กว้างตั้งแต่ทางตอนเหนือของสเปน ไปจนถึงตอนใต้ของออสเตรเลีย
ขณะที่ เว็บไซต์ www.n2yo.com เป็นเว็บไซต์ที่เฝ้าติดตามการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศเทียนกง-1 แบบเรียลไทม์ แสดงให้เห็นตำแหน่งของสถานีอวกาศเทียนกง-1 ทุกระยะ

*จิสด้า บอกชาวไทยไม่ต้องตื่นตระหนก ถึงแม้มีความเสี่ยง
ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) หรือจิสด้า ได้ออกแถลงการณ์ กรณีสถานีอวกาศเทียนกง-1 จะตกลงสู่พื้นโลก ว่าถึงแม้ประเทศไทยมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบด้วย ที่จะมีชิ้นส่วนของเทียนกง-1 ตกลงมา แต่ชิ้นส่วนของเทียนกง-1 จะเหลือขนาดค่อนข้างเล็ก ไม่มีปัญหามาก อาจจะมีลักษณะแค่เหมือนกับกระสุนปืนที่ตกใส่บ้านเท่านั้น
*ชี้เศษชิ้นส่วนเทียนกง-1 จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยมาก
ขณะที่ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ตามความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศต่างชาติชี้ว่า อันตรายของเศษชิ้นส่วนเทียนกง-1 ต่อมนุษย์อยู่ในระดับน้อย ซึ่งโอกาสที่คนจะโดนชิ้นส่วนเทียนกง-1 ตกใส่ เฉลี่ยแล้วมีแค่ประมาณน้อยกว่า 1 ใน 1 ล้านล้าน หากเปรียบเทียบกับโอกาสที่คนในสหรัฐฯ มีโอกาสถูกฟ้าผ่าที่มีมากกว่าอยู่ที่ 1 ใน 1.4 ล้าน

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศ ยังมีความเห็นตรงกันว่า ห้องแลปอวกาศของจีน เทียนกง-1 นี้ ส่วนใหญ่แล้วจะถูกเผาไหม้ขณะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เหนือมหาสมุทรและชิ้นส่วนจำนวนเล็กน้อยจะจมลงที่ก้นทะเล อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เลวร้ายที่สุดที่ผู้คนจะได้รับผลกระทบจากเทียนกง-1 ก็คือ เศษชิ้นส่วนตกใส่ในบริเวณที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น ซึ่งชิ้นส่วนใหญ่สุดตกกระแทกพื้น และสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินเท่านั้น
โดยโจนาธาน แม็คโดเวลล์ นักดาราศาสตร์ที่ศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ Harvard-Smithsonian บอกให้ชาวโลกเบาใจว่า ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดเหตุการณ์เศษชิ้นส่วนดาวเทียม หรือเศษชิ้นส่วนจากวัตถุที่ส่งไปในห้วงอวกาศตกใส่ย่านที่อยู่อาศัยของผู้คนเลย โอกาสมีน้อยมาก ซึ่งโอกาสที่ซากชิ้นส่วนจากเทียนกง-1 จะตกใส่บริเวณชุมชน ย่อมมีน้อยเช่นกัน...